วิป 3 ฝ่ายไร้ข้อยุติ ชงชื่อ“พิธา”โหวตนายกฯ ซ้ำ โยนหารือที่ประชุมพรุ่งนี้

18 ก.ค. 2566 | 06:49 น.

“วันนอร์"เผยประชุมวิป 3 ฝ่ายไร้ข้อยุติ ปมญัตติเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯ รอบ 2 โยนให้ที่ประชุมรัฐสภาอภิปรายแสดงความเห็น 2 ชั่วโมง พรุ่งนี้ ก่อนชี้ขาด-ลงมติ

วันนี้(18 ก.ค. 66) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แถลงผลการประชุมวิป 3 ฝ่าย วุฒิสภา (ส.ว.) 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล และ 10 พรรคขั้วรัฐบาลเดิม ที่มีประเด็นสำคัญคือ จะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมรัฐสภาวาระโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 19 ก.ค.นี้ ได้หรือไม่ ว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน 

เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีความเห็นที่แตกต่างว่า จะต้องวินิจฉัยตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 หรือไม่ หรือจะวินิจฉัยตามข้อบังคับรัฐสภาว่าด้วยการเลือกนายกฯ หมวด 9 ที่ไม่ใช่ญัตติทั่วไป ดังนั้นจะขึ้นอยู่กับการประชุมวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ที่จะต้องดูหน้างาน และฟังเสียงของสมาชิก

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องมีการขอมติที่ประชุมใช่หรือไม่ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ประธานจะชี้ขาดได้ต่อเมื่อได้ฟังคำอภิปรายอย่างครบถ้วนของสมาชิก ก่อนที่จะสรุปแล้วมีคำวินิจฉัย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด ต้องรอการอภิปรายในที่ประชุมพรุ่งนี้ คาดว่าคงจะอภิปรายไม่ยาวจนเกินไป ซึ่งในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ก็มีการเสนอให้มีการอภิปรายเป็นเวลา 2 ชั่วโมง น่าจะเหมาะสม

เมื่อถามว่าท้ายที่สุดจะต้องมีการลงมติ หรือใช้คำวินิจฉัยของประธานตัดสินได้เลย นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ต้องดูข้อมูลหน้างาน ว่าตรงตามที่คิดว่าจะต้องให้ประธานวินิจฉัย หรือจะมีการลงมติ

เมื่อถามถึงข้อเสนอการงดเว้นใช้ข้อบังคับจะเป็นแนวทางหนึ่งหรือไม่ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับ ต้องมีการเสนอ และมีมติที่ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายไม่มีใครพูดถึง เพราะหากยกเว้นข้อบังคับแล้ว จะไปใช้ข้อบังคับตรงไหน เพราะการเดินหน้าเลือกนายกฯ มีไม่กี่ประเด็น ประเด็นสำคัญคือต้องมีการเลือกนายกฯให้ได้ จึงคิดว่าไม่มีใครเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับ

เมื่อถามว่าหากสมาชิกส่วนใหญ่มีการลงมติว่าเป็นญัตติตามข้อบังคับฯ ที่ 41 แล้วสามารถเสนอชื่อนายกฯ คนอื่นที่ไม่ใช่ นายพิธา จะพิจารณาต่อได้เลยหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ข้อบังคับไม่ได้ห้าม ส่วนจะมีการเสนอชื่อนายกฯ คนอื่นที่ไม่ใช่ นายพิธา ได้เลยหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่ข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม

เมื่อถามว่า หากในวันพรุ่งนี้โหวตไม่ได้ การโหวตครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นเมื่อใด นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องดูหน้างาน ที่ทางรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ออกมาระบุจะเป็นวันที่ 20 ก.ค.ก็เป็นการพูดไว้ล่วงหน้า ขณะนี้ประชาชนรอคอย และต้องการได้นายกฯ ที่ไม่ช้าเกินไป เพื่อจะได้เข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง หลายฝ่ายเรียกร้องให้กระบวนการสภาฯ ไม่ช้าเกินไป แต่เราสามารถบอกได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด อยู่ที่กระบวนการของสภาฯ

ประธานรัฐสภา ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล เข้าชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีว่า ยังไม่ได้มีการบรรจุในระเบียบวาระ อยู่ในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่สภาฯ ตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ และชื่อผู้เสนอ ซึ่งในวันที่ 19 ก.ค.นี้ จะต้องดำเนินการเลือกนายกฯ ก่อน

เมื่อข้อกฎหมายที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เข้าไปก็ต้องบรรจุ หากเลือกนายกฯ จบแล้ว ก็พิจารณาได้เลย แต่ถ้าหากเลือกนายกฯ ยังไม่จบ กระบวนการบรรจุระเบียบวาระแก้ไขมาตรา 272 ก็ต้องอยู่ในลำดับ คือ หลังจากวาระโหวตเลือกนายกฯ เพราะวาระโหวตเลือกนายกฯ ได้เสนอมาก่อน