อุปสรรคการเป็นนายกฯของ"พิธา ก้าวไกล"ผ่านมุมสะท้อนของสื่อนอก

16 พ.ค. 2566 | 09:34 น.

รอยเตอร์สะท้อนภาพ"ปัจจัยขวาง"เส้นทางสู่การเป็นนายกฯ ของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แห่งพรรคก้าวไกลที่แม้จะได้คะแนนนำจากการเลือกตั้ง 2566 แต่ยังมีอุปสรรคเพียบ


พรรคก้าวไกล ประกาศเมื่อวันจันทร์ (15 พ.ค.) ว่าได้คะแนนเสียงมากพอจากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในการที่จะ จัดตั้งรัฐบาลผสม อย่างไรก็ตามรอยเตอร์รายงานว่า ความพยายามดังกล่าวอาจมี "ตัวเเปร"ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้ เส้นทางสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ราบรื่นนัก

เส้นทางสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้ราบรื่นนัก

ด่านแรกที่ขวางอยู่คาดว่าจะมาจากวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาจากสมัยรัฐบาลทหาร ไหนจะอุปสรรคจากจุดยืนของพรรคก้าวไกลเอง โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นอกเหนือจากนั้น อีกตัวแปรหนึ่งที่รอยเตอร์ระบุถึงคือการร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เรื่องการถือหุ้นสื่อของนายพิธา แม้เจ้าตัวจะแสดงความมั่นใจว่าสามารถที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ พร้อมปฏิเสธการกระทำผิดใด ๆ

สำนักข่าวรอยเตอร์ สื่อใหญ่ของสหรัฐ รายงานว่า พิธาวัย 42 ปี นำพรรคก้าวไกลไปสู่ "ชัยชนะที่น่าตกตะลึง" โดยพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้านเดิมอีกพรรคหนึ่ง ได้จำนวนที่นั่งมากที่สุดโดยได้คะแนนนำแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยที่เป็นเต็งหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ 

ชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านสองพรรคดังกล่าวอาจเบิกทางไปสู่จุดสิ้นสุดของระยะเวลาการครองอำนาจเกือบ 10 ปีของรัฐบาลที่มีทหารหนุนหลังและนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งพรรคของเขา (รวมไทยสร้างชาติ) ได้ที่นั่งไม่มากนักเมื่อเทียบกับพรรคฝ่ายค้าน 

ขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบให้

พิธา ประกาศความพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย และอธิบายว่า ก้าวไกล เพื่อไทย และพรรคอื่น ๆ อีก 4 พรรคจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมด้วยเสียง 309 เสียงในสภาผู้เเทนราษฎรที่มีทั้งหมด 500 ที่นั่ง

เบน เกียรติขวัญกุล ผู้บริหารและหุ้นส่วนแห่ง Maverick Consulting Group ที่ให้คำปรึกษาเรื่องกิจการภาครัฐ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า "เส้นทางของพรรคก้าวไกลกำลังเพิ่งเริ่มขึ้นเท่านั้น และมันจะไม่ราบรื่น"

รอยเตอร์กล่าวถึงน้ำหนัก 250 เสียงจากวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้การเป็นผู้นำฝ่ายบริหารต้องได้เสียงสนับสนุนในการประชุมร่วมสองสภารวมทั้งหมด 376 เสียง

ในบรรดาสมาชิกวุฒิสภาที่ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์จำนวน 6 คน มีตัวเเทนวุฒิสภาที่บอกว่า เขาไม่จำเป็นต้องยกมือไปในทิศทางเดียวกันกับเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้เเทนฯ แม้ว่าการโหวตตามเสียงส่วนใหญ่จะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (14 พ.ค.) ก็ตาม

ด้าน สว.สมชาย เเสวงการ ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ว่า เขามีบรรทัดฐานของตนเองในการโหวตสนับสนุนผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เช่น คนผู้นั้นต้องซื่อสัตย์สุจริต และไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศ ทั้งนี้ เขามองว่า เสียงข้างมากในสภาผู้เเทนฯอย่างเดียวยังไม่พอ(ที่จะให้ใครบางคนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี)

สว.สมชาย กล่าวว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง แต่กลับนำพาประเทศชาติไปสู่สงครามโลก และว่าหากตัวเลือกนายกฯ คนใดนำไปสู่ความเเตกเเยกในชาติ เขาจะไม่เลือกคนผู้นั้นเป็นผู้นำประเทศ

ขณะที่ สว.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ให้ทรรศนะว่า ผู้นำประเทศคนต่อไป ต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และไม่โกงกิน ซึ่งรอยเตอร์เห็นว่า เเนวคิดเช่นนี้เป็นไปตามจุดยืนของฝั่งอนุรักษ์นิยมที่อยู่คนละขั้วกับพรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม สว.นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ กล่าวว่า เขาจะเคารพเสียงส่วนมากที่ประชาชนต้องการ และว่า วุฒิสภาไม่ควรขัดขวางการทำงานของสภาผู้แทนฯ

ขณะที่วุฒิสมาชิกอีกรายหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ในรายงานฉบับนี้และไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า เขาจะงดออกเสียงหากต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพิธา แห่งพรรคก้าวไกล