Facebook ผนึกพันธมิตร สร้างตระหนักรู้เท่าทันกลโกงซื้อขายออนไลน์

24 พ.ค. 2565 | 08:24 น.

Facebook ประเทศไทย จาก Meta จับมือ 6 พันธมิตร สร้างการตระหนักรู้เท่าทันกลโกงซื้อขายออนไลน์ ในเฟสสองของแคมเปญ #StayingSafeOnline

Facebook ประเทศไทย จาก Meta พร้อมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โคแฟค ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศความร่วมมือในเฟสสองของแคมเปญ #StayingSafeOnline เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงผ่านช่องทางซื้อขายออนไลน์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น และสนับสนุนให้คนไทยสามารถป้องกันตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงกลโกงของนักต้มตุ๋น

Facebook ผนึกพันธมิตร สร้างตระหนักรู้เท่าทันกลโกงซื้อขายออนไลน์

ในปัจจุบัน ผู้คนพึ่งพาช่องทางดิจิทัลเพื่อเชื่อมต่อกับชุมชน ธุรกิจ ครอบครัว และเพื่อนฝูงมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การประกาศความร่วมมือในครั้งนี้ สานต่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของ Meta ในแคมเปญ เพื่อช่วยให้คนไทยรู้เท่าทันและเฝ้าระวังด้านความปลอดภัย การตกเป็นเหยื่อบนโลกออนไลน์ทั้งภัยจากสแกมเมอร์และฟิชชิ่ง ฯลฯ ความริเริ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของ We Think Digital Thailand ซึ่งเป็นโครงการเสริมทักษะดิจิทัลของ Facebook ประเทศไทย จาก Meta ที่ได้เปิดตัวและทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562

การเปิดตัวเฟสที่สองของแคมเปญผ่านวิดีโอสั้นที่ให้ความรู้ในหัวข้อเกี่ยวกับภัยหลอกลวงจากช่องทางการซื้อขายออนไลน์ยังสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่มากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงผ่านช่องทางซื้อขายออนไลน์ โดยจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสพธอ. ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ร้องเรียนถึงปัญหาดังกล่าวราว 50,000 ครั้ง และมีการร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (ผ่านสายด่วน 1212 Online Complaint Center หรือ 1212 OCC) ของ สพธอ. ถึง 17,112 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยมีคำร้องเรียนกว่า 6,613 ครั้ง ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการหลอกลวงบนโลกออนไลน์

 

นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า “สิ่งที่เรามักได้รับการรายงานและพบได้บ่อย คือ สั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และไม่ได้รับหรือสินค้าที่ได้รับไม่เหมือนกับรูปภาพสินค้าที่แสดงไว้ มูลค่าความเสียหายของแต่ละบุคคลจะดูเหมือนไม่มาก ประมาณ 300 ถึง 1,000 บาท แต่นักต้มตุ๋นจะใช้จุดนี้หลอกลวงผู้คนจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้วก็เปิดบัญชีใหม่ไปเรื่อย ๆ หน้าที่ของเราคือการประสานงานกับพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่เรามองว่านี่คือการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ สำหรับเรา ประเด็นสำคัญคือการมุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราได้ลงทุนในโครงการนี้เพื่อให้ความรู้กับคนไทย และปกป้องพวกเขาให้ปลอดภัยจากการตกเป็นเหยื่อ”

พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช. ก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงความคิดเห็นว่า “ในปัจจุบัน อาชญากรรมเกิดขึ้นในรูปแบบที่ไม่สามารถระบุตัวตนของอาชญากร ทั้งยังไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดน ดังนั้นการร่วมมือกับพันธมิตรหลักเชิงกลยุทธ์ทั้งในระดับท้องถิ่นและต่างชาติ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมเหล่านี้ สำหรับผม การให้ความรู้และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับปัญหาการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต แคมเปญนี้จึงเป็นอีกช่องทางสำคัญในการสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว”

 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย เน้นย้ำถึงการดำเนินงานและวิสัยทัศน์ขององค์กรของเธอว่า “โคแฟคเป็นชุมชนที่รวบรวมข้อมูลเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้น เราเชื่อมั่นในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคมเปญนี้ เพื่อสนับสนุนให้ประชากรยุคดิจิทัลสามารถรับมือกับโลกที่พัฒนาและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง”

 

นางสาวจิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความคิดเห็นว่า “การใช้บริการดิจิทัล โดยเฉพาะในการซื้อขายออนไลน์ เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด และด้วยการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เหล่านักต้มตุ๋นจึงมองเห็นโอกาสในการหลอกลวงเพื่อหาเงินจากผู้คน ปัญหาดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับเราเป็นอย่างมาก และเป็นสาเหตุที่เราต้องการสนับสนุนให้คนไทยมีความตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว และหันมาตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้าและผู้ขายก่อนสั่งซื้อสินค้าออนไลน์”

 

มร. ไมเคิล บัค หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ที่ Meta เรามีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้คนให้สามารถเชื่อมต่อ ค้นหาชุมชน และพัฒนาธุรกิจของพวกเขาให้เติบโตได้อย่างปลอดภัยบนแพลตฟอร์มของเรา ผ่านนโยบาย มาตรการป้องกัน และเทคโนโลยีต่าง ๆ  โดยตลอดช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา คนไทย ซึ่งรวมไปถึงเจ้าของธุรกิจต่าง ๆ มีความเข้มแข็งอย่างมากในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว การสร้างประสบการณ์ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในการค้นหาสินค้าและแบรนด์ที่พวกเขาชื่นชอบและต้องการเชื่อมต่อด้วยบนแพลตฟอร์มของเราจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

 

เราจึงมุ่งเดินหน้าให้ความรู้กับคนไทยผ่านแคมเปญสร้างการตระหนักรู้ #StayingSafeOnline เพื่อปกป้องพวกเขาจากการถูกหลอกลวง เราขอขอบคุณพันธมิตรทุกฝ่ายที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ และช่วยให้เราสามารถส่งต่อองค์ความรู้และดูแลความปลอดภัยให้กับคนไทยบนโลกออนไลน์ได้”

 

การเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ในโครงการ #StayingSafeOnline และรายละเอียดหลักสูตรการเรียนรู้ต่าง ๆ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยชั้นนำจากทีมงานด้านความปลอดภัย ความมั่นคง และนักวิจัยกว่า 35,000 คน ของ Meta โดยเป็นเนื้อหาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ที่มักพบบ่อยที่สุด และลักษณะทั่วไปของนักต้มตุ๋น เป็นต้น สำหรับเฟสสองของโครงการจะให้ความสำคัญกับหัวข้อ “ความปลอดภัยในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์” โดยการให้เคล็ดลับที่เป็นประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การซื้อสินค้าและบริการจากผู้ขายออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ การหยุดคิดสักครู่ก่อนซื้อ และวิธีการรายงานการหลอกลวงบน Facebook และ Instagram

นอกจากนี้ คุณยังสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเคล็ดลับดังกล่าว และวิธีการในการเฝ้าระวังผู้ประสงค์ร้ายทางโลกออนไลน์ประเภทต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์โครงการ We Think Digital Thailand ได้ที่ https://wethinkdigital.fb.com/th/th-th/stayingsafeonline/ หรือเพจ Facebook https://www.facebook.com/wtdthailand