อึ้ง! ไทยขาดดุลดิจิทัลทั้งปีเงินไหลออก 2 แสนล้านบาท

15 เม.ย. 2565 | 12:41 น.

ไทยขาดดุลดิจิทัล ตัวเลขภาษีบริการดิจิทัลสรรพากร ล่าสุดระบุชัด 5 เดือน คนไทยจ่ายค่าบริการออนไลน์บริษัทต่างประเทศแล้ว 4 หมื่นล้าน รัฐเก็บภาษี VAT ได้ 3 พันล้าน คาดทั้งปีเงินไหลออกต่างประเทศ 2 แสนกว่าล้านบาท แนะรัฐตั้งกำแพง สนับสนุนบริการดิิจิทัล คนไทยลดขาดดุล

ข้อมูลกรมสรรพากรล่าสุดได้เปิดเผยตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT  for Electronic Service : VES) ที่คนไทยจ่ายออกไป ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564-มกราคม 2565 (รวม 5 เดือน) สรุปแล้วคนไทยจ่ายเงินออกให้กับผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศรวม 4 หมื่นกว่าล้านบาท ภายในแค่ 5 เดือน ขณะที่กรมสรรพากรได้ภาษี VAT ประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท จากผู้ให้บริการออนไลน์จากต่างประเทศ

 

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com เปิดเผยว่า หากพิจาณาจากตัวเลข 5 เดือนของกรมสรรพากร คนไทยจ่ายเงินออกให้กับผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศรวม 4 หมื่นกว่าล้านบาทนั้น คาดการณ์ว่า ตลาดทั้งปีจะมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาทเนื่องจากผู้ให้บริการต่างประเทศที่มาขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรมีเพียง 127 รายเท่านั้น ยังมีผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรอีกเป็นจำนวนมาก

อึ้ง! ไทยขาดดุลดิจิทัลทั้งปีเงินไหลออก 2 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันเดิมกรมสรรพากรคาดการ์ณว่าจะเก็บภาษีดิจิทัลเซอร์วิส ได้ 3-5 พันล้านบาท แต่ผ่านไปแค่ 5 เดือน สรรพากรสามารถจัดเก็บได้ถึง 3 พันล้านบาท และมีการปรับคาดการณ์ใหม่ โดยคาดว่าจะจัดเก็บได้สูงถึง 8 พันล้านถึงหมื่นล้านบาท

 

“ถ้าเทียบดูแล้วปีนึงเราจ่ายเงินให้กับบริษัทบริการออนไลน์ต่างประเทศสูงถึง 2 แสนล้าน มากกว่ามูลค่าการนำเข้านํ้ามันสำเร็จรูปปี 2564 ที่มีเพียงแค่ 172,750 ล้านบาท หรือเทียบกับการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 มีเพียง 107,758 ล้านบาท ซึ่งขายข้าวทั้งปี ยังไม่ได้เท่ากับคนไทยขาดดุลดิจิทัล โดยสรุปคนไทยต้องส่งออกข้าวเพิ่มเป็น 2 เท่าถึงจะเท่ากับการที่คนไทยเสียเงินให้กับบริการออนไลน์บริษัทต่างประเทศ”

นายภาวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า รัฐควร เพิ่มการขาดดุลดิจิทัล เข้าไปในการคำนวณเชิงเศรษฐกิจของประเทศการขาดดุลดิจิทัลของไทย เพิ่งเริ่มต้น โดยต่อไปทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นออนไลน์หมด และบริการออนไลน์จริงๆ มีของคนไทยไม่กี่รายเท่านั้น ดังนั้นต่อไปคนไทยจะจ่ายเงินออกไปยังผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นๆ อีกอย่างแน่นอน ดังนั้นการขาดดุยดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นไปมหาศาล”

 

ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาลดการขาดดุลดิจิทัลโดยต้องมาแยกแยะบริการดิจิทัลแต่ละประเภทก่อนว่า บริการใดมีการขาดดุลสูงสุด เช่น โฆษณาออนไลน์ หรือบริการขายสินค้าออนไลน์ หลังจากนั้นจัดตั้งทีมร่วมเอกชนขึ้นมาเพื่อศึกษาว่า รัฐจะช่วยลดการขาดทุนในแต่ละบริการได้อย่างไร ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเชิญชวนผู้ให้บริการรายใหญ่ ทั้งกูเกิล เฟซบุ๊ก เข้ามาตั้งสำนักงานในไทย เพื่อจะได้รู้รายรับ รายจ่ายที่ชัดเจน

 

นอกจากนี้มองว่า รัฐ ควรจับมือกับเอกชน เพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลเซอร์วิส ขึ้นมาให้กับคนไทยใช้ โดยมีตัววัดผลชัดเจน และจะต้องจัดทัพธุรกิจดิจิทัลของไทย ให้ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศและให้หน่วยงานราชการ มีการใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ กับแพลตฟอร์มของไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงให้ทูตพาณิชย์ ช่วยในการผลักดันบริการดิจิทัลของไทยออกไปเวทีโลก