กูรูAIชี้สร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจเอกชนต้องตื่นตัวรัฐต้องส่งเสริม

10 ธ.ค. 2561 | 06:01 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กูรูAI ชี้สร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจ ชี้เอกชนต้องมีความตื่นตัว และภาครัฐต้องส่งเสริม

ดร.ปีเตอร์ เจ. เบนท์ลีย์ ประธานฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท เบรนทรี จำกัด และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน AI Machine Learning และ Deep Learning เปิดเผยในงานสัมมนา TMA Thailand Management Day 2018ภายใต้คอนเซปต์ Smart Connectivity: The Opportunities and Challenges ซึ่งจัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ Rise of AI and the World of Machine Learning ระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)และแมชชีนเลิร์นนิ่ง จะเป็นโอกาสครั้งใหม่สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะการสร้างงานและอาชีพรูปแบบใหม่ ที่ใช้ AI ในการหารายได้

ai1

 

“ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลไม่เคยมีมาก่อนแต่ตอนนี้เป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงมาก หรืออย่างแชตบอทก็เป็นอีกตัวอย่างที่ใช้ AI ในการสร้างรายได้ และในอนาคตจะเห็นคนที่หารายได้ผ่านอินเทอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่นมากขึ้น” ดร.ปีเตอร์ กล่าว

ขณะเดียวกัน AI ก็จะมีส่วนช่วยภาคธุรกิจในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่ทุกธุรกิจก็จะมีข้อมูลที่จัดเก็บของตัวเอง ซึ่งสามารถนำ AI มายกระดับบริการของตัวเอง สร้างมูลค่าการบริการที่เพิ่มขึ้น หรือนำมาช่วยคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจ ความต้องการของลูกค้า และหากเป็นองค์กรที่มีข้อมูลที่มีคุณค่า ก็อาจจะสามารถสร้างหน่วยธุรกิจใหม่จาก AI ได้ด้วย

สำหรับเทรนด์ของธุรกิจ AI จะถูกนำมาใช้กับการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์พฤติกรรมมนุษย์ การใช้งานด้านสาธารณสุข อย่างเช่น การขยายตัวของเชลล์มะเร็งเป็นต้น

ai2

ดร. ปีเตอร์ ยังกล่าวถึงโอกาสของการใช้ AI ในประเทศไทยว่า ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่เริ่มมีการตื่นตัวนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ ซึ่งก็มีบางธุรกิจนำมาประยุกต์ใช้แล้ว แต่บางธุรกิจก็ยังไม่มีการดำเนินการ ซึ่งมองว่าเอกชนควรที่จะมีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะนอกจากจะสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรแล้ว การลงทุนยังน้อยมาก มีเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์และคนที่ช่วยจัดเก็บบริหารข้อมูลเท่านั้น นอกจากนี้ภาครัฐก็ต้องช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจ AI เกิดขึ้นด้วย อย่างในอังกฤษ รัฐบาลก็ทุ่มเงินจำนวนมหาศาล เพื่อผลักดันให้อังกฤษเป็นศูนย์กลางของยุโรป รวมถึงเรื่องของการผลักดันกฎหมายต่างๆ ในการสนับสนุนให้เอกชน หันมาวิจัยพัฒนามากขึ้น อย่างในยุโรปบริษัททางด้าน AI ก็เกิดขึ้นมาหลายพันบริษัท หรืออย่างในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ให้ความสำคัญกับ AI ค่อนข้างมาก

ด้านนายเฟรกกี้ คลาวน์ Co-Founder & Head of Ethical Hacking บริษัท ไซเจนต้า จำกัด ประเทศอังกฤษ ร่วมบรรยายในหัวข้อ Cyber –Attack: Business Greatest Risk through the Lens of a Hacker กล่าวว่า การแฮกเกอร์ทำได้ง่าย แม้ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญก็สามารถแฮกข้อมูลได้เช่นกันโดยทำตามขั้นตอนที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต จะมีเมนูกำหนดให้แฮกเองขณะที่ผู้ถูกแฮกอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังโดนแฮกเพียงแค่เปิดไฟล์แปลกๆ ที่มีผู้ส่งเข้ามา แม้ไม่ได้คลิกดำเนินการใดๆ ต่อ แต่ระบบของฝ่ายแฮกจะดำเนินการล้วงข้อมูล หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของผู้ถูกแฮกได้โดยง่ายการล้วงข้อมูลทำได้ภายใน 5 นาทีทั้งๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ และภายใน 15 นาทีจะควบคุมทั้งองค์กรที่แฮกเข้าไปได้ ซึ่งเมื่อปี 2560 มีบางบริษัทสูญเสียมากกว่า 675 ล้านดอลลาร์จากการถูกแฮก

ai3

ขณะเดียวกัน ไม่ใช่เพียงความปลอดภัยไซเบอร์ที่ต้องป้องกัน ข้อแนะนำสำคัญคือ ต้องมีระบบป้องกันทางกายภาพด้วย โดยให้คำแนะนำทุกคนตระหนักถึงความมั่นคงปลอดภัย เช่น ประตูกระจกหมุน จะมีจังหวะหยุดอัตโนมัติ ทำให้คนร้ายอาศัยจังหวะนี้ก้าวเข้าองค์กรได้ หรือซีซีทีวีที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการป้องกัน เช่น ไม่ส่องไปทางที่มีต้นไม้ระบบรักษาความปลอดภัยจะเกี่ยวข้องกับคน บางครั้งเราอาจเห็นเจ้าหน้าที่จ้องมองหาขโมยในจอคอมพิวเตอร์ แต่ตามความเป็นจริงเขาอาจเพียงกำลังมองหาคนส่งอาหารกลางวัน พนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ใช่หุ่นยนต์ยังมีความสนใจบางเรื่อง ดังนั้นต้องฝึกอบรมให้พวกเขาเพ่งมองบางอย่างที่ผิดปกติ

นอกจากนี้ ระบบล็อกต่างๆ เป็นเพียงการป้องกันคนซื่อตรงที่จะเข้ามาในหน่วยงาน แต่คนร้ายจะหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้เข้ามาได้ การติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยต้องรู้วิธีทำงาน ไม่ใช่ติดไว้ด้านหน้าพร้อมกุญแจเปิดรหัส แม้กระทั่งเก็บเอกสารสำคัญไว้ให้โฟลเดอร์ที่แสดงสัญลักษณ์เด่นชัด หรือติดป้ายประกาศถังขยะที่เอกสารสำคัญ ก็เป็นการชี้เป้าโจรกรรมเช่นกัน

“ถ้าทำระบบรักษาความปลอดภัยทางกายภาพไม่ดี แม้จะลงทุนระบบมากแค่ไหนก็ไม่ปลอดภัย”

ai4

การหยุดยั้งการโจมตีทางไซเบอร์ของโลกนั้นมนุษย์เป็นจุดอ่อนสำคัญ หากให้ความรู้ก็จะกลายเป็นจุดแข็งได้เช่นกันยกตัวอย่าง ธนาคารในแองโกรา จะถูกขโมย 500 ล้านดอลลาร์ แต่พนักงานธนาคารเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นก็ยับยั้งเหตุไว้ได้ มนุษย์เป็นผู้ป้องกันที่ดีที่สุด ซึ่งตั้งแต่ปี 2559-2560 เริ่มมีแนวคิดนำมนุษย์มาเสริมการปกป้ององค์กร การทำไซเบอร์ซิเคียวริตี้จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยจัดระบบตรวจสอบตลอดเวลาและสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรให้ทุกคนปฏิบัติร่วมกันมีการจัดฝึกอบรม โดยสร้างความเข้าใจว่า ระบบรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ มีการประเมินผลเพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การทำระบบป้องกันต้องไม่ทำตามลำพัง ควรปรึกษาคนนอกองค์กรด้วยว่าควรจะมุ่งไปในทิศทางใด จากนั้นเริ่มป้องกันจากระดับพื้นฐาน และค่อยๆ เพิ่มระดับให้สูงขึ้น

595959859-6-503x60