"สิงห์ อินทรชูโต" เปิดมุมมองเมืองในอนาคต แนะธุรกิจอสังหาฯ ต้องพัฒนา

13 ธ.ค. 2566 | 12:20 น.

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต เปิดมุมมองเมืองในอนาคต ระบุ Sustainable Urbanization เป็นเรื่องพื้นฐานของอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องพัฒนา แนะทำ new business เพื่อปรับตัวให้อยู่รอด ชู The Forestias เป็นต้นแบบ

งาน “SUSTAINABILITY FORUM 2024” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MODC) ร่วมเสวนาในหัวข้อ "Sustainable Urbanization : Better Cities and Communities" กล่าวว่า การสร้างอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาเมือง หรือทำสมาร์ทซิตี้ ที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลงอนาคตไม่ยาก โดยเสาหลักที่สำคัญคือ Nation Environment ที่ในประเทศไทยมีแค่ไม่กี่ส่วน เช่น เรื่องสภาพอากาศ เรื่องน้ำ Living and Construction แต่ต้องดูองค์ประกอบต่าง ๆ หลายอย่างรวมกันเพื่อพัฒนาเมืองที่จะสร้างต่อไปในอนาค และต้องดูว่าอะไรที่ทำให้ล้มเหลวหรือไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจด้วย

โดยเรื่อง Sustainable Urbanization เป็นเรื่องพื้นฐานธรรมดาที่ต้องทำ ซึ่งอีก 5 ปีข้างหน้าอาจจะไม่เพียงพอและต้องทำมากกว่านั้น ยกตัวอย่าง การขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ หากมองไปถึงอนาคตในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมก็ไม่จำเป็นต้องถามลูกค้าว่าต้องการไหม เพราะต้องคิดเผื่อไว้แล้วว่ามันจะต้องเกิดขึ้น หากไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาได้ในปัจจุบันก็ควรพัฒนาขึ้นมาเองซึ่งจะเกิดเป็น new business สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นเพิ่มอีก ถือเป็นการมองจุดเชื่อมโยง หรือการ connect the dots ของธุรกิจด้วย 

ฉะนั้น โครงการอสังหาริมทรัพย์ไหนที่ไม่เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับอนาคตผู้บริโภคไม่ควรซื้อ ต่อให้จะชูเรื่องประหยัดพลังงานหรือเรื่องที่เป็นเทรนด์ แต่ถ้าไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ในอนาคตได้ก็มักจะเกิดปัญหารุมเร้าขึ้นอย่างรุนแรงตามมาเช่นกัน

“เรื่องฝุ่น PM.2.5 ที่กำลังเข้ามา ต่อให้ลูกค้าไม่อยากได้เครื่องฟอกอากาศในโครงการและอยากเอาออกเพื่อความประหยัด เมื่อมาถึงปัจจุบันแพงแค่ไหนก็จำเป็นต้องซื้อ และตอนนี้ Gloobal real estate เป็นอุตสาหกรรมที่ขยับได้ช้ามาก แต่เราโชคดีที่มี The Forestias (เดอะ ฟอเรสเทียส์) ในเมืองไทย ซึ่งพื้นที่นี้ได้กลายเป็นกรณีศึกษาและเป็นต้นแบบของโครงการอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตไปแล้ว”

การแก้ปัญหาในปัจจุบันไปสู่อนาคตร่วมกัน

รศ.ดร.สิงห์ บอกว่า ปัจจุบันนี้ทรัพยากรของโลกเราเริ่มจะหมดไปกับการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน หรือถนนหนทางต่าง ๆ โดยใช้ทรัพยากรมหาศาล และส่วนใหญ่ไม่ใช้วัสดุก่อสร้างที่รีไซเคิล แม้แต่จะใช้กระดาษรีไซเคิลในมหาวิทยาลัยยังเป็นเรื่องที่ยากมาก ยกตัวอย่าง ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หากกระดาษมีสีน้ำตาลอ่อนเพียงนิดเดียวก็ใช้ไม่ได้แล้ว จะเห็นได้ว่าโลกของเรามีเทคโนโลยีเยอะมากที่สามารถนำมาเป็นคำตอบของการเปลี่ยนแปลงได้ แต่หลายหน่วยงานก็ยังมีกฎระเบียบยิบย่อยมาเป็นข้อห้าม

“ฉะนั้นการสร้าง Sustainable Urbanization จะต้องแก้ปัญหาที่เป็นปัจจุบัน และตั้งคำถามว่าทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่รอดต่อไปในอนาคต พร้อมจัดการเรื่องสมาร์ทซิตี้ให้ไปด้วยกันได้ แม้มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาตามมา แต่หากแต่ละหน่วยงานมีดาต้าของตัวเอง ผมก็อยากให้เมืองในอนาคตสามารถแชร์ข้อมูลให้กันได้และสามารถปรับตัวร่วมกันโดยมีสวน แม่น้ำ มีการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม”