"GPSC" รุกเพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอนวางเป้า 1 หมื่นไร่ปี 73

09 ต.ค. 2566 | 08:06 น.

"GPSC" รุกเพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอนวางเป้า 1 หมื่นไร่ปี 73 ภายใต้โครงการเพาะกล้า ฟื้นป่า สร้างชีวิต ระบุนำร่องพื้นที่แรก 230 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ จ.เลย และขยายพื้นที่ปลูกป่า 1,000-1,500 ไร่ต่อเนื่องทุกปี

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC ได้ดำเนินโครงการ เพาะกล้า ฟื้นป่า สร้างชีวิตในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูเขาแก้ว ป่าดงปากชม ป่าโคกผาดำ ป่าโคกหนองข่า และป่าภูบ่อบิด ต.นาดอกคำ อ.นาด้วง จ.เลย ภายใต้โครงการปลูกป่า 2 ล้านไร่ ของกลุ่ม ปตท. และหน่วยงานภาครัฐ 

ทั้งนี้ เพื่อร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้และเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย ตามเป้าหมายในการบริหารจัดการความยั่งยืนของ GPSC ที่สอดรับกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ 

 

โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ให้ได้ภายในปี 2603

"GPSC" รุกเพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอนวางเป้า 1 หมื่นไร่ปี 73

ทั้งนี้ GPSC ได้ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกและฟื้นฟูสภาพป่าตามเจตนารมณ์ของกลุ่ม ปตท. ให้ครบ 10,000 ไร่ ภายในปี 2573 และจะบำรุงรักษาป่าต่อเนื่องรวมไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยในปีแรกนี้ GPSC ได้นำร่องโครงการปลูกป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ใน อ.ปากชม และ อ.นาด้วง จ.เลย จำนวน 230 ไร่ ซึ่งได้รับการอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากในอดีตผืนป่าแห่งนี้เคยมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก 

แต่ปัจจุบันได้เสื่อมโทรมลง จึงจำเป็นในการพลิกฟื้นผืนป่าแห่งนี้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยร่วมกับกรมป่าไม้ในการปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่คาดว่าจะได้ 114,237.5 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า พร้อมแผนงานที่จะทยอยปลูกประมาณปีละ 1,000-1,500 ไร่ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อที่จะสามารถนำไปสู่การแบ่งปันคาร์บอนเครดิตในการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย หรือ T-VER  
 

"ที่ผ่านมาโครงการปลูกป่า 2 ล้านไร่ GPSC ได้ร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการเพิ่มพื้นที่ป่าและบำรุงรักษาป่าใหม่ ฟื้นฟูป่าเดิมที่เคยปลูกไป ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero"