"ส.อ.ท." แนะโรงงานอุตสาหกรรมปรับตัวรับ"คาร์บอนฟุตพริ้นท์"

02 ต.ค. 2566 | 03:00 น.

"ส.อ.ท." แนะโรงงานอุตสาหกรรมปรับตัวรับ"คาร์บอนฟุตพริ้นท์" ระบุต้องพัฒนาสู่ความยั่งยืน ทั้งการเป็นโรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งนำสเนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตนเองสู่ความยั่งยืน ทั้งการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การเตรียมความพร้อมในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม จึงกำหนด 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 

  • การผนึกกำลังอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง 
  • ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่อนาคต 
  • พัฒนา Smart SMEs ยกระดับสู่สากล 
  • พัฒนาการบริการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย 
     

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 30.9% 

อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกมีมูลค่าติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาส และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ดังนั้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและการแข่งขันที่รุนแรง รัฐบาลจึงกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ เพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

สำหรับนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมใน 3 เดือนข้างหน้า ประกอบด้วย 

  • ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพให้เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้มวลรวมของประเทศ ผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมฮาลาล 
  • ขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษขยายไปสู่ 4 ภาคของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจและเกิดความสะดวกกับนักลงทุนมากขึ้น 
  • เร่งหามาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายภายในประเทศทั้งมาตรการทางภาษี และการขยายจุดให้บริการชาร์จแบตเตอรี่สำหรับประชาชน 
  • ส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงโอกาสในการแข่งขัน 
  • ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน และ 6.ส่งเสริมการเข้าถึงของผู้ประกอบการและประชาชนด้วย One Stop Service โดยเน้นย้ำให้ทุกการดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมายอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชนผ่านการขับเคลื่อน 4 มิติ ได้แก่ 

  • ความสำเร็จทางธุรกิจ มุ่งให้ผู้ประกอบการมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ 
  • ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคม 
  • ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว 
  • การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง