ส่งออกข้าวแสนล้านสะเทือน เวียดนามลุย “ข้าวคาร์บอนตํ่า”

28 ก.ย. 2566 | 04:09 น.

จับตาส่งออกข้าวไทยแสนล้านสะเทือน เวียดนามลุยแผนปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ ชิงตลาดพรีเมียม รับเทรนด์ลดโลกร้อน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าอีก 7 ปีขาย 1 ล้านตัน เล็งตลาดใหญ่อียู สหรัฐ ตะวันออกกลาง นักวิชาการ-เอกชน จี้ทุกฝ่ายไทยเร่งสปีดรับมือก่อนเสียตลาดระยะยาว

การปลูกและส่งออกข้าวของโลกกำลังจะพลิกโฉมครั้งใหญ่ เพื่อตอบโจทย์ลดโลกร้อน และเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ยังสามารถขายคาร์บอนเครดิต ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา จากที่ผ่านมาขายข้าวได้ในราคาที่ผันผวนตามภาวะตลาดทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดเวียดนาม 1 ในประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่และเป็นคู่แข่งขันของไทย กำลังเร่งพัฒนาการผลิตและส่งออกข้าวที่ล้ำหน้าไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันส่งออกข้าวของเวียดนามในอนาคต

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้เวียดนามได้เร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนระหว่างปี 2021-2030 โดยการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta : MRD) ที่ประกอบด้วย 13 จังหวัด มีผลผลิตข้าวคิดเป็นสัดส่วน 60% ของผลผลิตข้าวโดยรวม และสัดส่วน 90% ของการส่งออกข้าวโดยรวมของเวียดนาม

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

  • จับมือ 4 ฝ่ายลุยข้าวรักษ์โลก

ทั้งนี้ได้เร่งปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวใน MRD เป็นข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Rice) เพื่อตอบโจทย์ใน 2 เรื่อง 1. เวียดนามมีนโยบายชัดเจนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2050 การที่จะไปถึงเป้าหมายให้ได้นั้นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการผลิตข้าวและเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องไม่เหมือนเดิม ทั้งนี้การปลูกข้าวมีการปล่อยก๊าซมีเทน 48% และมีผลต่อก๊าซเรือนกระจก (GHG) รุนแรงกว่า 28 เท่า และ 2.การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงและสอดรับกับสภาพภูมิอากาศในหลากหลายพันธุ์

ขณะเดียวกันเวียดนามได้ขับเคลื่อนข้าวคาร์บอนต่ำโดยความร่วมมือจาก 4 ฝ่าย ได้แก่ นโยบายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และชาวนา โดยให้เอกชนเข้ามาช่วย เช่น บริษัท Loc Troi Group สำนักงานโฮจิมินห์เข้ามาทำฟางข้าวให้เป็นปุ๋ยออร์แกนิค และใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนปุ๋ยเคมีเพื่อให้ข้าวมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่บริษัท My Lan Group จัดทำระบบการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับข้าว ทำให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยลงไปได้ 40-60% ขณะที่เพิ่มผลผลิต 10% และลด GHG ได้ 60% และไปพัฒนาการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ทำให้นาข้าวลด GHG ได้ 40%

ส่งออกข้าวแสนล้านสะเทือน เวียดนามลุย “ข้าวคาร์บอนตํ่า”

  • ประเดิมส่งออก 1 ล้านตัน

“ปัจจุบันเวียดนามได้ปลูกข้าวคาร์บอนต่ำได้ประมาณ 7 แสนเฮกตาร์หรือประมาณ 4.3 ล้านไร่ได้ผลผลิตออกมาแล้วประมาณ 4 ล้านตันข้าวเปลือก (ผลผลิตข้าวเวียดนามประมาณ 1 ตันหรือ 1,000 กก.ต่อไร่) และได้ตั้งเป้าพื้นที่ปลูกข้าวคาร์บอนต่ำไว้ที่ 1 ล้านเฮกตาร์ในปี 2030 (2573) หมายความว่าเวียดนามจะปลูกข้าวคาร์บอนต่ำได้ 6.25 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งในอีก 7 ปีข้างหน้าข้าวส่งออกของเวียดนาม 20% จะเป็นข้าวคาร์บอนต่ำ หรือประมาณ 1 ล้านตัน”

ปัจจุบันมีหลายตลาดที่มีกระแสตอบรับข้าวคาร์บอนต่ำที่ดีมาก ซึ่งจะเป็นโอกาสข้าวของเวียดนาม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปหรืออียู 27 ประเทศ ที่มีความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA กับเวียดนามแล้ว และได้เร่งแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) รวมถึงตลาดตะวันออกกลาง ทั้งนี้หากข้าวคาร์บอนต่ำของเวียดนามได้รับการรับรองจากหน่วยงาน The Mekong Delta Rice Research Institute (CLRRI) ของเวียดนาม รวมถึงได้รับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากประเทศคู่ค้าที่กล่าวมาแล้ว จะทำให้เวียดนามส่งออกข้าวได้ในมูลค่าที่สูงขึ้น ในปริมาณที่ลดลง จากในเบื้องต้นคาดข้าวคาร์บอนต่ำราคาจะสูงกว่าข้าวปกติกว่า 20% จากเป็นข้าวตลาดพรีเมียมตอบโจทย์สินค้าสีเขียว รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม

  • ปลุกไทยตื่นเร่งรับมือ

รศ.ดร. อัทธ์ กล่าวอีกว่า คาดในปี 2567 เป็นต้นไป เวียดนามจะขายข้าวที่มีคุณภาพและมาตรฐานเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือข้าวคาร์บอนต่ำ และข้าวสุขภาพ โดยเวียดนามจะลดปริมาณการส่งออกข้าวลงเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร จากเฉลี่ยส่งออกประมาณปีละ 7 ล้านตัน (มูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท) อาจเหลือส่งออก 4 ล้านตัน แต่มูลค่าจะขึ้นไปถึง 1 แสนล้านบาท เทียบกับประเทศไทยในปี 2565 มีการส่งออกข้าว 7.71 ล้านตันมูลค่า 1.38 แสนล้านบาท และช่วง8 เดือนแรกปีนี้ส่งออกแล้ว 5.27 ล้านตัน มูลค่า 1 แสนล้านบาท (+20% จากราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และเงินบาทอ่อนค่า) ซึ่งหากไทยไม่ปรับตัวผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ อนาคตความสามารถในการแข่งขันจะลดลง และยังต้องส่งออกข้าวในปริมาณมากและรับความเสี่ยงจากราคาผันผวนต่อไป

สำหรับประเทศไทยยังมีการตื่นตัวเรื่องนี้น้อยมาก ที่สำคัญในกระบวนการในการจัดการเรื่องข้าวคาร์บอนต่ำหรือข้าวรักษ์โลกของไทย ยังไม่เป็นองค์รวมทั้งประเทศ ยังเป็นแบบต่างคนต่างทำ “เบี้ยหัวแตก” แต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังไม่ประสานและร่วมมือกันชัดเจน ขาดหน่วยงานรับผิดชอบและรับรองคาร์บอนเครดิตหลักทั้งระบบอุตสาหกรรมข้าว ไม่มีการระบุพันธกิจชัดเจน ระยะเวลาในการสำเร็จ มีข้อจำกัดเรื่องน้ำไม่พอทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ขาดตลาดรับซื้อ และขาดข้อมูลช่องทางในการจำหน่าย ที่สำคัญไม่มีแรงจูงใจให้ชาวนาทำ เพราะไม่เห็นราคาที่สูงขึ้นชัดเจน

“ทางออกของไทยในเรื่องนี้ รัฐต้องเร่งผลักดันให้เกิดตลาดข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อให้เกิดราคาจูงใจที่แตกต่างจากราคาข้าวปกติ ต้องดึงทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดข้าวคาร์บอนต่ำในทุกมิติของการผลิต และต้องมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานข้าวคาร์บอนต่ำ ที่เป็นที่ยอมรับของตลาดยุโรป และสหรัฐฯ”

  • ห่วงนโยบายรัฐเปลี่ยนไปมา

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า อนาคตข้าวไทยน่าห่วง เพราะเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรก็จะเปลี่ยน โดยรัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายพักหนี้เกษตรกร จากรัฐบาลชุดก่อน ๆ มีนโยบายประกันรายได้ และรับจำนำข้าว ซึ่งแต่นโยบายใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ขณะที่งบวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มผลิต ลดต้นทุน การพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ของไทยให้ค่อนข้างน้อย เทียบกับรัฐบาลเวียดนามที่ให้งบวิจัยและพัฒนาในเรื่องข้าวในแต่ละปีมากกว่าไทย 10 เท่า ในเรื่องข้าวคาร์บอนต่ำ หรือข้าวรักษ์โลกนี้รัฐบาลควรเอาจริงเอาจังในการสนับสนุนชาวนาในการปลูก ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มในการขายคาร์บอนเครดิตด้วย และจะช่วยเพิ่มราคาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออกข้าวไทยในอนาคต

ชูเกียรติ  โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อย่างไรก็ดีในเรื่องข้าวคาร์บอนต่ำ หรือข้าวรักษ์โลก จากการรวบรวมข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” ณ ปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวในภาคส่วนต่างๆ ที่ต่างคนต่างทำ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับองค์กรความร่วมมือต่างประเทศเยอรมัน (GIZ) จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) วงเงินประมาณ 600 ล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินโครงการปี 2561-ก.ค.2566) ล่าสุดได้ต่ออายุไปอีก1 ปี เงินสนับสนุนประมาณ 300 ล้านบาท นำร่องภาคกลางและภาคตะวันตก6 จังหวัดได้แก่ ปทุมธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง พื้นที่รวมกว่า 2.8 ล้านไร่ ครอบคลุม 1 แสนครัวเรือน และจะขยายผลไปในอีก 3 จังหวัดได้แก่ กำแพงเพชร ลพบุรี และนครราชสีมา

ขณะที่บริษัท Spiro Carbon จากสหรัฐได้รับซื้อคาร์บอนเครดิตจากชาวนา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี 2 รายก่อนหน้านี้ ราคา 400 บาทต่อตันคาร์บอน มีเงื่อนไขเกษตรกรต้องปล่อยน้ำในการทำนาให้แห้ง 2 ครั้ง ขณะที่กรมวิชาการเกษตรได้เปิดตัวโครงการ “DOA Green Together” แปลงต้นแบบการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืช นำร่อง 7 พืชเศรษฐกิจ (อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน มะม่วง)และออกคู่มือภาคประชาชนลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร เป็นต้น