"กนอ."สร้างเครือข่ายลดก๊าซเรือนกระจกมุ่งความเป็นกลางทางคาร์บอน

18 ก.ย. 2566 | 09:10 น.

"กนอ."สร้างเครือข่ายลดก๊าซเรือนกระจกมุ่งความเป็นกลางทางคาร์บอน เดินหน้ายกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่เกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้โครงการ ISB

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ดำเนินการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่เกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้โครงการ I-EA-T Sustainable Business : ISB 

โดยการนำมาตรฐานสากลมาใช้วัดผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาให้เหมาะสมแก่อุตสาหกรรมไทย ยกระดับขีดความสามารถและภูมิคุ้มกันที่ดี ในการพัฒนาธุรกิจสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปี 2566 ภายใต้กลยุทธ์ขยาย IMPACT โครงการฯ 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 

  • เร่งการเข้าสู่มาตรฐาน พัฒนาผลสัมฤทธิ์ โดยทำงานกับนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมในบทบาท ISB Accelerator เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจเกณฑ์มาตรฐานผลสัมฤทธิ์ทางสังคมมากขึ้น 
  • ส่งเสริมการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีในระดับประเทศและระดับสากลในบุคคลากรของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเพื่อนผู้ประกอบการ จากกิจกรรม Workshop , Coaching และ ISB Roadshow ต่อเนื่องตลอดโครงการ 
  • รายงานข้อมูล ESG และผลสัมฤทธิ์ Impact จากการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของอุตสาหกรรมไทยขึ้นทะเบียนขอรับรองสู่การเป็น ISB LIST โรงงานยั่งยืนของ กนอ.
  • เชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจูงใจผู้ประกอบการ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการเข้าถึง Global BCORP Network , การเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยการมีข้อมูลด้านความยั่งยืนเพื่อรายงาน (ESG Reporting) ส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นแบรนด์ยั่งยืน 

กนอ.สร้างเครือข่ายลดก๊าซเรือนกระจกมุ่งความเป็นกลางทางคาร์บอน

และที่สำคัญคือโอกาสในการได้รับรางวัล ISB Awards และเตรียมความพร้อมสู่การประกวดรางวัล ในระดับอื่น ๆ เช่น รางวัล Prime Minister’s Award เป็นต้น

“โครงการ ISB เป็นการส่งเสริมมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน (หรือ CSR-DIW) รวมถึงมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (หรือ Eco Factory) ด้วยการยกระดับเกณฑ์ปฏิบัติที่ดีตามกรอบความรับผิดชอบต่อสังคมของโรงงาน สู่การสะท้อนผลสัมฤทธิ์ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตและก้าวไปข้างหน้า ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล”

นางปนัดดา รุ่งเรืองศรี รองผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการ ISB ในปี 2566 เป็นการส่งเสริมความร่วมมือในระดับหน่วยงานภาคีสำคัญ ได้แก่ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. และผู้พัฒนานิคมฯ ให้เป็นตัวแทนISB Accelerator กว่า 30 นิคมอุตสาหกรรม เพื่อนำมาตรฐานดังกล่าวไปสู่ผู้ประกอบการ สะท้อนมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ และยกระดับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจเทียบเท่ามาตรฐานสากล ISB Assessor กว่า 50 ราย มีผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจรับรองและขึ้นทะเบียนเป็นธุรกิจยั่งยืน (ISB Lists)  กว่า 10 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครือข่ายพันธมิตร ISB Community กว่า 11 ภาคีพันธมิตร เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินกิจการที่ดีอีกด้วย  

สำหรับโครงการ ISB ปี 2566 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง นิคม และ โรงงานเปรียบเสมือนรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง ควบคู่กับการเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายของรัฐบาล