“บีไอจี” ปรับกลยุทธ์มุ่งคลีนไฮโดรเจน-สมาร์ทแพลตฟอร์มลดคาร์บอน

16 ก.ย. 2566 | 01:45 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2566 | 01:45 น.

“บีไอจี” ปรับกลยุทธ์มุ่งคลีนไฮโดรเจน-สมาร์ทแพลตฟอร์มลดคาร์บอน ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสภาพภูมิอากาศ ดันไทยสู่ Net Zero

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการทรานส์ฟอร์มองค์กรเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมาย Net Zero โดยมุ่งการพัฒนานวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายของความยั่งยืนอย่างแท้จริงด้วย Climate Technology 

ทั้งนี้ บริษัทจะขับเคลื่อนนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Climate Technology เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรที่สอดรับกับเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และ Net Zero ภายในปี 2608 

ขณะนี้บริษัทมีความก้าวหน้าในการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิจากการลดใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตได้กว่า 20% จากเป้าหมาย 33% ในปี ค.ศ. 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ด้วย Climate Technology ในปี 2593

สำหรับหนึ่งใน Climate technology ที่สำคัญคือ ไฮโดรเจน ซึ่งในปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำเพื่อนำมาใช้ในงานพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ มีความเชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจน 

โดยบริษัทได้ใช้เทคโนโลยีจากบริษัทแม่คือ แอร์โปรดักส์ ที่เป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนซึ่งกำลังมีโครงการใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 15,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) และไฮโดรเจน สีเขียว (Green Hydrogen) ปัจจุบันมีความคืบหน้าโครงการไปแล้วกว่า 50% 

บีไอจีปรับกลยุทธ์มุ่งคลีนไฮโดรเจน-สมาร์ทแพลตฟอร์มลดคาร์บอน

และคาดว่าจะพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบในปี 2569-2570 ในส่วนของประเทศไทยบริษัทได้ร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ปตท. และ โตโยต้าจัดตั้งสถานีบริการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้กับภาคยานยนต์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตั้งแต่ปี 2565 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะนำเทคโนโลยีการเก็บกักคาร์บอนและเทคโนโลยีอีเล็คโตรไลซิสเพื่อพัฒนาไฮโดรเจนสีน้ำเงินและไฮโดรเจนสีเขียวร่วมกับองค์กรชั้นนำในประเทศ โดยมุ่งเน้นโครงการสำคัญที่ทำได้จริง เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานไฮโดรเจนอย่างเต็มรูปแบบ ถือความก้าวที่สำคัญที่ช่วยประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions  

"มีการประเมิน มูลค่าทางเศรษฐกิจของไฮโดรเจน ในช่วง 2568-2573 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท และภายหลังจากปี 2573 คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 200,000-300,000แสนล้านบาท"

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์การส่งเสริมอุตสาหกรรม มีความต้องการให้ภาครัฐ มีการกำหนด และวางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อนาคต เนื่องจากอุตสาหกรรมได้มีการเปลี่ยนไป จากการที่ไทยเติบโตมาต่อเนื่อง ตลอด 35 ปี จากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ถูก 
 

แต่ปัจจุบันต้นทุนได้ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ และค่าแรงงาน จำเป็นต้องมองว่าทิศทางอุตสาหกรรมในระยะต่อไป ควรจะผลิตแบบเดิมหรือผลิตอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เพื่อการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสามารถส่งออกไปยัง สหรัฐ และยุโรป ที่มีมูลค่าสูงกว่า 

รัฐบาลควรวางโครงสร้างพื้นฐานซัพพลายเชนทั้งระบบ รวมถึงการทำภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งในต่างประเทศ จะมีการติดตามว่ามีการจัดการคาร์บอน รวมถึงนโยบายของภาครัฐในการบริหารจัดการ ทำ Net Zero ได้อย่างไร ให้เป็นรูปธรรม

ส่วนการส่งเสริมการใช้ไฮโดเจนในภาคยานยนต์ ที่หลายฝ่ายจะเปรียบเทียมกับยานยนต์ไฟฟ้า อาจแข่งขันไม่ได้ หากนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์นั่ง เพราะในความเป็นจริงรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ต้องเป็นรถยนต์ EV แต่สิ่งที่ EV ไม่สามารถตอบสนองในเรื่องประสิทธิภาพในกลุ่มยานยนต์ขนส่งขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ปริมาณเชื้อเพลิงให้สอดรับกับระยะทางตั้งแต่ 500-1,000 กิโลเมตร 

หากเป็นรถยนต์ขนส่งEV จะมีต้องมีการติดตั้งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ทำให้รถไม่สามารถบรรทุกสินค้าได้ในปริมาณที่มากเท่าที่ควร รวมถึงระยะเวลาการชาร์จต้องใช้เวลานาน เมื่อเทียบกับการใช้ก๊าซไฮโดรเจน ใช้เวลาเติมเพียง 3-5 นาที วิ่งได้ระยะ ไกล ถึง 700 กิโลเมตร สามารถตอบโจทย์และใช้งานได้จริง

อย่างไรก็ดี บริษัทยังได้พัฒนาอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ด้าน Climate Technology คือ สมาร์ทแพลตฟอร์มสำหรับการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิของภาคอุตสาหกรรม ผ่านระบบ Carbon Accounting Platform ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการวัดเพื่อทราบปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิในกระบวนการผลิตทั้งหมดแบบเรียลไทม์ 

จากนั้นจะนำโซลูชั่นหลากหลายรวมไปถึงนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำเป็นพิเศษที่บริษัทผลิตได้เพียงรายเดียวในประเทศไทยมาช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่มาจากกระบวนการผลิตที่ถูกวัด และสุดท้ายแพลตฟอร์มนี้ยังสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับบริษัทเองและภาคส่วนต่างๆ จากทุกอุตสาหกรรม ทั้งหมด เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิและการสร้างความยั่งยืน โดยภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปวางแผนและดำเนินการเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิในกระบวนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม