ม.มหิดลมุ่งเป้า"Carbon Neutral"รุกนำร่องติดโซลาร์รูฟท็อป-จัดการขยะ

07 ส.ค. 2566 | 03:36 น.

ม.มหิดลมุ่งเป้า"Carbon Neutral"รุกนำร่องติดโซลาร์รูฟท็อป-จัดการขยะ ชี้อุปสรรคการเดินหน้าภารกิจสีเขียวเกิดจากข้อจำกัดในเชิงพื้นที่จากสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ในเขตเมืองหลวง ที่มีความแออัดและเต็มไปด้วยมลพิษ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนกฤต เนียมหอม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมคณะฯ ในการเป็น "ส่วนงานนำร่องสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน" (Green and Carbon Neutral Faculty) ว่า เพื่อลดอัตราการใช้ไฟฟ้าคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล มีแนวทางสอดคล้องกับการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การติดตั้ง Solar Rooftop (โซลาร์รูฟท็อป) ร่วมกับการจัดการขยะ และลดการใช้ถุงพลาสติกที่ยังคงมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน

โดยจะทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จากประมาณ 20% เหลือเพียงประมาณ 1,180 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระจำเป็นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมากในอาคารเรียน - สำนักงาน พื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่ให้บริการทางด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนของคณะฯ โดยดำเนินการตามกลยุทธ์เพื่อรักษาสมดุลระหว่างมลภาวะ(Pollution) สุขภาวะ (Health) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
 

ทั้งนี้ มองว่าเรื่องขอ งSDGs หรือเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรจะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น หากสามารถนำทุกกิจกรรมมาคำนวณออกมาเป็นตัวเลขแล้วนำไปเทียบกับการใช้จริงในชีวิตประจำวัน โดยจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน และเกิดความตระหนักร่วมกันมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การทำให้เห็นว่า หากสามารถประหยัดน้ำได้เพียงวันละ 5 ลิตร เมื่อรวมกัน 1 ปี จะเท่ากับปริมาณน้ำที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้เป็นจำนวนมากเพียงใด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมองว่าปฏิบัติการลดปล่อย พร้อมดูดกลับก๊าซเรือนกระจก เทียบไม่ได้กับการซื้อ-ขาย "คาร์บอนเครดิต" กันในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นเพียงตัวเลขที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ถึงอย่างไรยังนับว่าดีต่อ "การสร้างแรงกระเพื่อม" ให้เกิดความตระหนักในอนาคตของโลกสีเขียวที่ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนกฤต กล่าวอีกว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการเดินหน้าภารกิจสีเขียวของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกิดจากข้อจำกัดในเชิงพื้นที่จากสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ในเขตเมืองหลวง ที่มีความแออัดและเต็มไปด้วยมลพิษ แตกต่างไปจากวิทยาเขตอื่น ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่อยู่ในต่างจังหวัดซึ่งยังคงแวดล้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ แต่ยังคงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเท่าใดนัก หากนับรวมพื้นที่รับผิดชอบในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ของ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีการดูดกลับด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2565 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนามแนวทางขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พบว่า มีการปล่อยระบายคาร์บอนจากทั้ง 3 scope จำนวน1,474 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งพบว่า แหล่งกำเนิดที่ปล่อยมากที่สุด คือ การใช้ไฟฟ้าในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ สูงถึง 74%