BPP ทุ่ม 8 พันล้าน ซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซฯสหรัฐ ปล่อยมลพิษตํ่า

12 ก.ค. 2566 | 07:23 น.

บ้านปู เพาเวอร์ ลุยใช้แอมโมเนียน เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี หลัง METI จากญี่ปุ่นอนุมัติงบศึกษาสนับสนุนสู่เป้าหมาย Net Zero พร้อมทุ่ม 8 พันล้านบาท ขยายกิจการซื้อโรงไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ปล่อยมลพิษต่ำในสหรัฐอเมริกาเพิ่ม

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กำหนดกลยุทธ์ธุรกิจยั่งยืนภายใต้แนวคิด “Powering Energy Sustainability with Quality Megawatts" ที่มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานด้วยเมกะวัตต์คุณภาพด้วยหลัก “Triple E” ได้แก่ Ecosystem : สร้างระบบนิเวศของธุรกิจไฟฟ้าที่มีสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อน พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลังงาน Excellence : รักษาประสิทธิภาพของการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสมํ่าเสมอ และ ESG : ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ล่าสุด ได้จัดตั้ง คณะกรรมการ ESG เข้ามาช่วยดูทิศทาง นโยบาย เป้าหมาย ดูและประเมินสิ่งที่ BPP ทำอยู่ เพื่อให้แผนงานของ BPP เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดบาลานซ์ที่เหมาะสม และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายใต้การดำเนินงานดังกล่าว มีเป้าหมายมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน( Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) และบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์( Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ.2065) โดยมีเป้าหมายการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าไปสู่ 5,300 เมกะวัตต์ ในปี 2568 แบ่งเป็นพลังงานจากเชื้อเพลิงทั่วไป 4,500 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นอยู่ที่ 3,689 เมกะวัตต์ เป็นเชื้อเพลิงทั่วไป 3,247 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมราว 442 เมกะวัตต์

ดร.กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า ESG เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ สร้างการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ที่เน้นประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อต่อยอดในพอร์ตโฟลิโอพลังงานสะอาด ลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) โดยในช่วงปี 2566-2568 มีแผนที่จะใช้งบลงทุนราว 500-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 17,000-23,800 ล้านบาท เพื่อผลักดันการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

BPP ทุ่ม 8 พันล้าน ซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซฯสหรัฐ ปล่อยมลพิษตํ่า

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อน Net Zero Emissions และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อ 9 ในส่วนของการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อพลังงานสะอาด เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง กำลังการผลิตรวม 1,434 เมกะวัตต์ ในสัดส่วน 20% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงครอบคลุมระบบการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของแอมโมเนีย ทั้งในด้านการผลิตและการขนส่ง ซึ่งล่าสุดทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ประเทศญี่ปุ่นได้อนุมัติทุนช่วยเหลือในการศึกษาความเป็นไปได้แล้ว

“แอมโมเนีย เป็นรูปหนึ่งของก๊าซไฮโดรเจน การขนส่งมีอันตราย เพราะเป็นสารไวไฟ ดังนั้น การที่จะขนส่งไปทั่วโลก คือต้องควบรวมเป็นรูปแบบของแอมโมเนียก่อน แล้วไปจัดส่งในรูปแบบ คล้าย ๆ ของแอลเอ็นจี ซึ่ง BPP กำลังศึกษาความเป็นไปได้ ว่าโรงไฟฟ้าที่มาบตาพุด จ.ระยอง จะสามารถทำเรื่องแอมโมเนียได้ในปริมาณเท่าใด ถ้าทำได้ก็มีต้นแบบโรงไฟฟ้าแบบนี้ในญี่ปุ่น สามารถส่งเข้าไปได้หมดเลย เพราะสามารถผสมสัดส่วนได้ถึง 50%”

ดร.กิรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพียังทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Mitsubishi Corporation และ Chiyoda Corporation เพื่อศึกษาเทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) เพื่อศึกษาผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการประเมินต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเบื้องต้น เพื่อสร้างความพร้อมให้กับโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี

อีกทั้ง ล่าสุด BPP ได้ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในประเทศยุทธศาสตร์ โดยการเข้าซื้อกิจการบริษัท CXA Temple 2, Holdco, LLC ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ขนาด 755 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา โดยใช้เงินลงทุนตามสัดส่วนการลงทุนราว 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 8,030 ล้านบาท จากมูลค่ารวม 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 16,060 ล้านบาท ส่งผลให้เพิ่มกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนได้ราว 378 เมกะวัตต์

การลงทุนครั้งนี้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าว ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines หรือ CCGT ที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมการปล่อยมลภาวะ และยังตั้งติดกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I (Temple I CCGT) ที่ BPP ถือหุ่นอยู่ จึงทำให้โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ที่ใช้เทคโนโลยีผสมผสานกระบวนการทำงานของ Gas Turbine (กังหันก๊าซ) กับ Steam Turbine (กังหันไอนํ้า) เข้าไว้ด้วยกัน พร้อมกับมีระบบการจัดการนํ้าทิ้งจนเกือบเป็นศูนย์ จึงส่งผลให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณที่ตํ่ามาก

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3904 วันที่ 13 – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2566