“โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ลดโลกร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน

30 มิ.ย. 2566 | 02:00 น.

เขียวรักษ์โลก พามาทำความรู้จัก “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ช่วยลดภาวะโลกร้อน เเละช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

ในวันที่ปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะฝนตกหนัก น้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว คลื่นความร้อนที่ทำให้หลายพื้นที่อยู่แทบไม่ไหว ช่วงปีที่ผ่านมาทั้งประเทศไทยและประเทศทั่วโลกต่างต้องรับมือกับภัยพิบัติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประกอบกับปัญหาคุณภาพอากาศ PM2.5 ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คนในปัจจุบันมากพอ ๆ กัน

ทุกภาคส่วนจึงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในด้านพลังงาน เทรนด์โลกปัจจุบันที่สำคัญมาก ก็คือ ไฟฟ้าสีเขียว หรือ ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน นั่นเอง

แม้วันนี้ไฟฟ้าที่ใช้จะยัง ไม่ได้มาจากพลังงานหมุนเวียน100% แต่สิ่งที่จะได้เห็นแน่นอน คือ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มมากขึ้น ในหลาย ๆ ประเทศ กล่าวได้ว่าปัจจุบันยังเป็นช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคพลังงานสะอาด

และสำหรับประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในฐานะผู้นำด้านพลังงานไฟฟ้าที่พร้อมซัพพอร์ตพลังงานสีเขียว เดินหน้าในทิศทางเดียวกันกับกระแสโลก ด้วยการเพิ่มสัดส่วน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานจากแสงอาทิตย์ 

วันนี้ไปทำความรู้จักกับ “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-Floating Solar Hybrid)”  เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมในการผลิตไฟฟ้าที่ได้ผสานพลังแดดและพลังน้ำเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ หรือ บริเวณอ่างเก็บน้ำ ของ กฟผ. ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นที่นำร่องในการทดลองผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสองประเภท คือพลังงานจากน้ำที่มีอยู่เดิมของเขื่อนสิรินธรกับพลังงานจากแสงอาทิตย์ ที่ได้ทำการติดตั้งแผงโซลาร์เซลบนพื้นน้ำของอ่างเก็บน้ำ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานหรือที่เรียกว่าไฮบริดได้ ซึ่งเป็นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งแรกของประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในโลก

แผงโซล่าเซลล์บนผิวน้ำจำนวนมหาศาลกว่า 144,420 แผง กินพื้นที่ 450 ไร่ หรือ ไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ทำให้ชาวบ้านยังคงสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ ที่นี่ทำการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ไปแล้วเมื่อช่วงตุลาคม 2564 การออกแบบก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งวัสดุแผงโซลาร์เซลล์ ก็เลือกใช้ชนิด ดับเบิลกลาสซึ่งเป็นกระจกทั้งด้านบนและด้านล่าง ทำให้ไม่มีสิ่งปนเปื้อนร่วงหล่นลงสู่แหล่งน้ำ และมีการวางแผงโซลาร์เซลล์เป็นมุมเงย 11 องศา ทำให้แสงสามารถลอดผ่านลงสู่ใต้ผิวน้ำได้มากขึ้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ พลังงานไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์จากโซลาร์เซลของที่นี่ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 47,000 ตันต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 37,600 ไร่ อีกด้วย

จริงๆ แล้วเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ลอยน้ำนี้ถูกใช้ในหลายประเทศ แต่ประเทศไทยพิเศษกว่านั้น เพราะผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ กับ พลังนํ้า ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน จึงเป็นการลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน เรียกได้ว่าที่นี่ผลิตไฟฟ้าได้ ทุกเมื่อ ไม่ว่าฝนจะตก แดดออก ก็ตาม

เส้นทางเดินชมธรรมชาติที่เขื่อนสิรินธร สามารถชมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากมุมสูงบนนี้ได้ชัดเจนมาก ยิ่งช่วงใกล้พระอาทิตย์ตกดินจุดทางเดินริมน้ำสวยมากๆ  และเพิ่มความตื่นเต้น หวาดเสียวขึ้นมาอีกด้วยทางเดินกระจกที่สูงถึง 10 เมตร ที่นี่ยังมี  Nature Walk way หรือเส้นทางเดินชมธรรมชาติ เพื่อเป็นจุดเช็คอินของนักท่องเที่ยว ให้ได้มาสัมผัสความอัศจรรย์ของแผงโซลาเซลล์ลอยน้ำนับแสนแผง ไปพร้อมกับเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาด

ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าชมช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์สูงสุดถึงวันละกว่า 2,000 คน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการท่องเที่ยว  ได้เห็นความพยายามในการปลุกปั้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของภาคอีสาน สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับชุมชน ให้มาร่วมเป็นไกด์นำเที่ยว บริการนักท่องเที่ยว นำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาวางขาย

กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ก็เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนกับความสำเร็จโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งแต่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น  ถือเป็น "แหล่งผลิตไฟฟ้าที่สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน" อย่างแท้จริง

โซลาร์เซลล์ไฮบริดเขื่อนสิริธร เป็นโครงการทดลองนำร่องเมื่อผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่ปี 2564 ได้ทำการเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งความคุ้มค่าในการลงทุน ผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ตลอดจนผลกระทบในทุกด้าน เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบแล้ว การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไฮบริดกับพลังน้ำจากเขื่อนที่มีอยู่เดิมนั้นมีความคุ้มค่าทั้งในด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าที่มีราคาไม่แพง ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะทำให้ชุมชนได้ประโยชน์ มีรายได้เพิ่มขึ้น

กฟผ. เดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. 9 แห่ง รวม 16 โครงการทั่วประเทศ กำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการฯ ที่กำลังเดินหน้าพัฒนาอยู่ และอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเขื่อนสิรินธรแห่งนี้ อยู่ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นี่เองค่ะ ซึ่งมีขนาดกำลังผลิตอยู่ที่ 24 เมกะวัตต์

ไฮไลท์เด็ดของโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนอุบลรัตน์นี้ คือ การติดตั้งแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System – BESS) เข้าไปในระบบผลิตไฟฟ้า เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพในช่วงการสับเปลี่ยนระหว่างพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ระบบสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น  

 โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนไปแล้ว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชุมชน ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ประมาณต้นปีหน้า การดำเนินเหล่านี้ เป็นไปตามแนวคิด กฟผ.ที่สนับสนุนทุกก้าวสีเขียว EGAT supports every green step