เข้าใจความต่าง “คาร์บอนเครดิต”กับ “ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน RECs"

07 มิ.ย. 2566 | 06:26 น.

เปิดความแตกต่าง “คาร์บอนเครดิต” กับ “ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) สำหรับการนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองพลังงานหมุนเวียน หรือ REC จะเป็นกลไกนำไทยก้าวเข้าสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้อย่างยั่งยืน  แต่ที่ผ่านมา ยังเกิดความสับสนในเรื่องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsets) โดยใช้คาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ กับ Renewable Energy Certificates (RECs) อยู่เป็นวงกว้าง 

 

แต่รู้หรือไม่ว่ากลไกทั้งสองมีต่างกันอย่างสิ้นเชิง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก - องค์การมหาชนระบุว่า องค์กรที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีทางเลือกที่จะลดผลกระทบที่หลากหลายกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อม

เช่น มาตรการประหยัดพลังงาน มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน รวมถึงการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งหากทราบถึงความแตกต่างจะเป็นสิ่งสำคัญต่อการตัดสินใจว่าทางเลือกทั้งสองสิ่งมีประโยชน์ต่อองค์กรอย่างไร

"คาร์บอนเครดิต"

  • ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกหรือมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น CDM, T-VER, VCS, GS
  • มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)
  • สามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงานไปรายงานหรือเปิดเผยข้อมูลการนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ

“ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน” (REC)

  • กลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของกลไก
  • ช่วยสนับสนุนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านการซื้อและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ทำให้ผู้ลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน
  • มีหน่วยการซื้อขายคือ REC ซึ่งคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจริง (ไฟฟ้า 1 MWh มีค่าเท่ากับ 1 REC)

การใช้งานคาร์บอนเครดิต

  • เป็นไปในเป้าหมายของการอ้างสิทธิ์การลด/ดูดซับ ก๊าซเรือนกระจก หรือ สนับสนุนให้เกิดการลด/ ดูดซับก๊าซเรือนกระจก
  • การซื้อคาร์บอนเครดิตจะทำให้องค์กรสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง
  • สามารถทำการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “คาร์บอนนิวทรัล” ได้

การใช้งาน ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน

  • เป็นไปในเป้าหมายของการอ้างสิทธิ์ในการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ สนับสนุนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
  • หากพิจารณาจากการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จะจัดอยู่ใน SCOPE II: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions)
  • จำนวน RECs ที่ซื้อมานั้นจะเป็นการลดข้อมูลกิจกรรม (Activity Data) ในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น
  • สามารถอ้างสิทธิ์ในการใช้พลังงานหมุนเวียน ทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากสายส่ง (Conventional Grid) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์การที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด หรือ RE100 ได้

“คาร์บอนเครดิต”กับ “ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน RECs"