"ปตท." รุกกรีน ไฮโดรเจนรับตลาดบูมปี 2593 หนุนอุตฯเคมิคอลโปรดักส์

02 มี.ค. 2566 | 09:49 น.

"ปตท." รุกกรีน ไฮโดรเจนรับตลาดบูมปี 2593 หนุนอุตสาหกรรมเคมิคอลโปรดักส์ เผยแนวโน้มการใช้งานต่างประเทศเริ่มโต จากประสิทธืภาพที่ตอบโจทย์

นายธนา ศรชำนิ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีพลังงานใหม่ สถาบันนวัตกรรม ปตท. เปิดเผยในงาน Tech Talk ภายใต้งาน PTT Group Tech & Innovation Day ที่จัดโดย บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในหัวข้อ Hydrogen Technology ว่า ปตท. มุ่งเป้าให้ความสำคัญกับเรื่อง กรีน ไฮโดรเจน เพราะ CO2 (คาร์บอนไดออกไซด์) ต่ำสุด และหลายสำนักมองว่าราคากรีนไฮโดรเจน จะเริ่มลดลง ส่งผลให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มราคาพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ที่มีราคาถูก

ขณะนี้เรื่องของ "ไฮโดรเจน" มีคนสนใจมาก สาเหตุหลักที่เริ่มพูดถึงนี้ เนื่องจากคนหันมาสนเรื่องของการลดคาร์บอน และเป้าหมายของการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ดังนั้นจะเห็นว่า ตลอด 2 ปี กลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทิศทางของการใช้ไฮโดรเจนจะแพร่หลายในปี 2593 โดยเฉพาะในกลุ่ม เคมิคอลโปรดักส์ 
 

ขณะที่กระบวนการทำไฮโดรเจนจะต่างจากการดึงก๊าซธรรมชาติ หรือ น้ำมันที่ได้จากการขุดเจาะ แต่การผลิตไฮโดรเจนจะต้องผ่านกระบวนการผนวกด้วยเทคโนโลยี โดยใช้กระบวนการที่ได้รับความนิยม คือการนำไฟฟ้ามาแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ จะมีความสะอาดที่สุด และเมื่อได้ไฮโดรเจนมาก็จะเก็บไว้ในถังเพื่อส่งไปยังลูกค้า โดยการขนส่งที่นิยมที่สุดคือทางท่อในนิคม อย่างเช่นในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นต้น 

แต่หากต้องขนส่งระยะไกลข้ามประเทศ จะต้องเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียหรือในรูปแบบลักษณะเหมือน LNG ที่มีอุณหภูมิต่ำและขนส่งทางเรือ ซึ่งขณะนี้ ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา เพราะ 0.1% ยังมีปัญหา

"ต่างประเทศนิยมใช้ไฮโดรเจนในภาคขนส่งโดยเฉพาะรถทรัคสามารถวิ่งได้ไกลถึง 400 กิโลเมตร ใช้เวลาน้อยในการเติมเชื้อเพลิง 8-10 นาที ซึ่งกลุ่มปตท.ได้ร่วมเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ที่ชลบุรี"

โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาเพื่อทดสอบการใช้งานในประเทศไทย ให้บริการในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง และยังร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และซาอุดีอาระเบีย ผลักดันการพัฒนาธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศไทย
 

นายยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม ปตท. กล่าวว่า ปัจจุบันนวัตกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อก่อนสถาบันฯ เป็นเสมือนพี่ใหญ่ที่คิดค้นนวัตกรรมให้กับกลุ่มปตท. ซึ่งขณะนี้บริษัทในกลุ่มปตท. ได้เริ่มมีนวัตกรรมใหม่ ๆ แซงหน้าและเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงมีจำนวนพนักงานเท่ากับสถาบันฯ แล้ว ดังนั้น สถาบันฯ ได้มุ่งมั่นคิดต้นนวัตกรรมตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ปตท. อาทิ สนับสนุนทั้งในเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในแต่ละสายธุรกิจ รวมถึงเป้าหมาย Net Zero ตามการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่ 30% ในปี 2573

“เมื่อเทรนด์โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเราก็ต้องปรับตาม เพื่อให้ทีมนวัตกรรมได้เรียนรู้ในการอัพสกิล รีสกิล คิดค้นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนองค์กร เพราะที่ผ่านมาเราทำวิจัยให้องค์กร แต่ปัจจุบันกลุ่มย่อยมีความเข้มแข็ง เราก็จะยังคงสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์แล้วส่งมอบให้องค์กรย่อยอย่างต่อเนื่อง อาทิ เทคโนโลยีกักเก็บ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจกลุ่มปตท. อาทิ ผงฟู  หรือแม้แต่การพัฒนา LNG ในภาคการขนส่ง เป็นต้น”