"ประยุทธ์" เปิดเวที GCNT Forum 2022 ย้ำเป้าหมายกรุงเทพฯ BCG ขับเคลื่อน Net Zero

02 พ.ย. 2565 | 07:29 น.

"พลเอกประยุทธ์" ปาฐกถาเวที GCNT Forum 2022 นำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนประเทศสู่ Net Zero ด้าน "ศุภชัย"นายก GCNT ย้ำต้องเร่งแก้ปัญหาระบบนิเวศน์ ควบคู่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประชุม Global Compact Network Thailand Forum (GCNT 2022) หัวข้อ “เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ” ที่จัดขึ้นโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติโดยพลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุม GCNT Forum 2022 ถือเป็นโอกาสในการเตรียมตัวก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) โดยไทยได้ผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคในยุคหลังวิกฤตโควิด – 19 เพื่อให้ทุกประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุมมากขึ้น ภายใต้หัวข้อหลัก “Open. Connect. Balance.” 

รัฐบาลไทยยืนยันถึงเจตนารมณ์ ความมุ่งมั่นและการลงมือทำของไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค เพื่อลดสภาวะโลกร้อนและความเสียหายต่อธรรมชาติ โดยภาคเอกชนและสหประชาชาติถือเป็นภาคีสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของไทย การที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค ได้เสนอหลักการ “การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG” ที่คำนึงถึงการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเยียวยารักษาธรรมชาติอย่างมีสมดุล เป็นหัวใจหลักและมี “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว

 

จากสถิติและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงประสบการณ์ของไทย จะเห็นว่าเริ่มมีสัญญาณเตือนว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัว 

นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โลกที่มีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 หรือโรคอุบัติใหม่ที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ​ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน สภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ ทำให้ทุกประเทศต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศและประชาชนของตนเอง 

 

ในส่วนของประเทศไทยต้องกำหนดจุดยืน นโยบายอย่างรอบครอบ โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 

 

“ประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนมีแสงสว่างในการดำรงชีวิตในทุกมิติ ถือเป็นรากฐานของธุรกิจ BCG​ และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พลเอกประยุทธ์กล่าว

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ จะบรรลุผลและนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม​ต่อเนื่องในระยะยาว สอดรับกับความพยายามของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งผลักดันให้ใช้แนวคิด BCG เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ อาทิ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การจัดการป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ประชาชนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยไทย ​

 

ส่วนการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา​ การสร้างการตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มองค์รวม

 

​นอกจากนี้ ไทยได้ทำงานเชิงรุกในการกำจัดขยะทางทะเล​ พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดทำตราสารระหว่างประเทศ ว่าด้วยการจัดการขยะพลาสติก​ ทบทวนเขตการค้าเสรีที่เน้นการส่งเสริมการค้าแบบใหม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่กับสาธารสุข​ไปพร้อมกัน

 

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ประกาศสนับสนุนการประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเป็นศูนย์ ค.ศ. 2050 หรือช้าสุด2070 โดยสมาชิกสมาคมฯ ได้ร่วมกันลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เปรียบเท่ากับการลดปริมาณรถบนถนน 1.6 ล้านคัน

 

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาโลกร้อน นอกจากการฟื้นฟูและปกป้องสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ท้าทายและร้ายแรงอย่างมาก คือ การถดถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ได้รายงานว่าใน 40 ปีที่ผ่านมาการถดถอย ของความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมลดลงอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ทะเล นก  สัตว์เลื่อนคลาน ลดลงถึง 68% 

 

ขณะที่ World Economic Forum ได้ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจโลกว่า ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศบริการกว่า  50% หรือ 44 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น

ความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมูรณ์ของระบบนิเวศน์ จึงมีความสำคัญมากๆ ต่อเศรษฐกิจทุกสาขา

 

สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนขณะนี้ จึงต้องทำทั้งการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่กับการสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดก้าวหน้า เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างให้เกิดประโยชน์ ภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และระดับเอสเอ็มอี ต้องร่วมกันขับเคลื่อน สนับสนุนเงินทุนเพื่อดำเนินการทุกอย่างให้บรรลุเป้า และมีการรายงานอย่างโปร่งใส เพื่อให้ธุรกิจและเศรษฐกิจโลก สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป