ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือพีดีพี จึงได้หันมาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากว่า 51% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2580 โดยให้ความสำคัญการผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด
ขณะเดียวกันในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคารที่มีนํ้าหนักรวมในบริเวณหนึ่งบริเวณใดไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตรไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร
ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมให้อาคาร โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า บ้านเรือนที่อยู่อาศัย สามารถเข้าถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้น
จากเดิมที่กฎหมายได้กำหนดให้การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัยที่มีขนาดพื้นที่ติดตั้งไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีนํ้าหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัย และแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ
ดังนั้น การแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวจะส่งผลให้อาคารที่ไม่ใช่อาคารอยู่อาศัยสามารถติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ และไม่ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง หากแผงเซลล์แสงอาทิตย์มีนํ้าหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เนื่องจากการแก้ไขให้สามารถติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จะไม่เป็นการเพิ่มนํ้าหนักหรือส่งผลกระทบกับโครงสร้างของหลังคาและยังจะช่วยลดขั้นตอนปฏิบัติที่อาจสร้างภาระเกินความจำเป็นให้แก่เจ้าของอาคาร
ทั้งนี้ การปลดล็อกกฎหมายดังกล่าว ยังสอดรับกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ....) ออกตาม ความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดยกเว้นให้การผลิตพลงังานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อปทุกกำลังการผลิต ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานและไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุญาต และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งเดิมกฎหมายกำหนดให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์ ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เมื่อมีการยกเว้นเกิดขึ้น จะช่วยให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) อีกต่อไป
ดังนั้น การช่วยให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนได้ง่ายขึ้น นอกจากจะช่วยประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังสามารถช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อีกทางหนึ่ง เป็นการสนับสนุนภาครัฐในการลดรายจ่ายจากการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาพลังงานให้กับครัวเรือนหรือธุรกิจ โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากภายนอกทั้งหมด
นอกจากนี้ยังช่วยลดผลกระทบจากไฟฟ้าดับที่เกิดจากระบบสายส่งไฟฟ้าหลักได้อีกด้วย สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว ในรูปแบบของการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งช่วยสร้างงานในหลากหลายด้าน เช่น การผลิต การติดตั้ง การซ่อมบำรุง และการวิจัยพัฒนา อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนชุมชนให้ก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง