"พลังงาน"เตรียมชงพ.ร.บ.น้ำมันดีเซลราคาถูกให้เกษตรกรเข้าสภา 12 ธ.ค.

09 ธ.ค. 2566 | 01:29 น.

"พลังงาน"เตรียมชงพ.ร.บ.น้ำมันดีเซลราคาถูกให้เกษตรกรเข้าสภา 12 ธ.ค. สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่​ 2 ยันขายในราคาต่ำกว่าดีเซลปัจจุบัน พร้อมเล็งหารือกระทรวงการคลังตรึงดีเซล 2.94 บาทต่อ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงพลังงาน​ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายเพื่อจัดสรรน้ำมันดีเซลราคาถูกให้กับกลุ่มเกษตรกร เช่นเดียวกับน้ำมันเขียว หรือน้ำมันกลุ่มประมง ว่า กระทรวงพลังงานจะจัดทำร่างพระราชบัยญัติ (พ.ร.บ.) น้ำมันดีเซลราคาถูกให้กับกลุ่มเกษตรกร ให้ทันการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่​ 2 ซึ่งจะเปิดประชุมวันวันที่ 12 ธันวาคมนี้​ โดยยืนยันว่าจะขายในราคาต่ำกว่าราคาดีเซลปัจจุบัน

ขณะที่ในส่วนของราคาน้ำมันดีเซลซึ่งปัจจุบันตรึงราคาไม่เกิน 29.94 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เบื้องต้นจะตรึงราคาต่อหลังปีใหม่ 

อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวจะต้องหารือกับกระทรวงการคลังถึงกลไกของภาษีสรรพสามิตที่เข้าอุดหนุนร่วมกับเครื่องมือและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของกระทรวงพลังงาน เพื่อกำหนดแนวทางชัดเจน 

ส่วนก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี (LPG) ล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติตรึงราคาขายปลีก ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม(กก.) ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2567 

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตรึงค่าไฟงวดแรกปี 2567​(มกราคม-เมษายน) โดยจะตรึงค่าไฟฟ้า ไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ช่วยเฉพาะกลุ่มเปราะบางจำนวน 17.7 ล้านราย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน คิดเป็น 75% ของผู้ใช้ไฟทั้งประเทศ ใช้งบกลาง​ปี​ 2567 กว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น และเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน​

สำหรับการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่เหลือ คือ เกิน 300 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป กระทรวงฯ จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) วันที่ 13 ธันวาคมนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการดูแลค่าไฟให้กลุ่มคนดังกล่าว โดยยืนยันว่าจะไม่ใช่ 4.68 บาทต่อหน่วยแน่นอน 
 

ซึ่งจะพิจารณาแนวทางสนับสนุน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1.การขยายหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ออกไปอีก 1 งวด ,2.การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ และ3.การกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) จะทำให้ราคาค่าก๊าซธรรมชาติลดลง ทั้งนี้การลดราคาแค่ 1 สตางค์ หรือ 10 สตางค์ ก็ใช้เงินจำนวนมากหลักพันหลักหมื่นล้านบาท เพราะต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติสูง แต่ยืนยันค่าไฟฟ้าจะไม่ถึง​ 4.68 บาทต่อหน่วยแน่นอน​

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่าว่า มาตรการขยายหนี้ กฟผ. ถือเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น ขณะนี้มีแผนที่จะเตรียมแก้ปัญหาให้ กฟผ. เพื่อปลดภาระหนี้ ส่วนการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ เป็นการปรับโครงสร้างที่จะมีความยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย และไม่เป็นการสร้างภาระในอนาคต รวมทั้งการกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท. จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดราคาค่าไฟได้