SCGC จับมือ “บราซิล”จ่อทุ่ม 2 หมื่นล้าน ผลิตพลาสติกชีวภาพลด CO2

24 มิ.ย. 2566 | 02:21 น.

เอสซีจี เคมิคอลส์ ผนึก Braskem จากบราซิล เล็งทุ่ม 2 หมื่นล้าน ผุดโรงงานผลิตไบโอ-เอทิลีน พลาสติกชีวภาพ จากเอทานนอล ตอบโจทย์ความยั่งยืนและตลาดโลก หลังครม.ไฟเขียวแก้กฎหมายนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ นอกเหนือสุราและแก๊สโซฮอล์

ถือเป็นความพยายามในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนา BCG Model ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565

มติดังกล่าวได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรไปออกกฎหมายและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นให้กรมสรรพสามิตแก้ไขกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 เพื่ออนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นชนิดเอทานอล สามารถนำเอทานอลไปจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่นได้ การออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. ....เพื่อเพิ่มพิกัดอัตราภาษีสำหรับสินค้าเอทิลีนชีวภาพ ซึ่งจะเป็นการกำกับดูแลและควบคุมการใช้เอทานอลในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอื่นและกำหนดให้อัตราภาษีศูนย์ เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG Model ขณะที่กรมศุลกากรออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดอัตราอากรขาเข้าในอัตราพิเศษสำหรับเอทานอลที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

อีกทั้ง ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาปริมาณการผลิตเอทานอลที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอลจากผู้ผลิตภายในประเทศล่วงหน้าในแต่ปี ในกรณีที่ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตเอทานอลได้ตรงตามมาตรฐานและไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากรขาเข้าในอัตราพิเศษ

รวมถึงให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด และให้มีการจัดตั้งหน่วยรับรองเพื่อกำหนดมาตรฐานความยั่งยืนของการผลิตเอทานอลด้วย เป็นต้น

SCGC  จับมือ “บราซิล”จ่อทุ่ม 2 หมื่นล้าน ผลิตพลาสติกชีวภาพลด CO2

สำหรับแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว ถือเป็นมาตรการสนับสนุนการขับเคลื่อน BCG สาขานวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ที่ปลดล็อกอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์แปลงสภาพ เพื่อให้กรมสรรพสามิตกำหนดมาตรการ เรื่องการออกใบอนุญาตผลิตแอลกอฮอล์สำหรับผู้ประกอบการใหม่ และกำหนดพิกัดอัตราภาษีใหม่ รองรับผลิตภัณฑ์เอทานอลแปลงสภาพ และจัดให้มีมาตรการทางด้านภาษีสนับสนุนการดำเนินงาน

เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ผลิตเอทานอล (ไม่ได้แปลงสภาพ) เพื่ออุตสาหกรรมเพียงรายเดียว คือองค์การสุรา ซึ่งมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอ ขณะที่โรงงานผลิตเอทานอลของไทยมีกำลังผลิตส่วนเกินมากและมีศักยภาพปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ได้

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมการนำเอทานอลมาผลิตพลาสติกชีวภาพอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ออกมาประกาศก่อนหน้านี้แล้วว่า จะร่วมลงทุนกับบริษัท Braskem ซึ่งเป็นผู้ผลิตโพลิเมอร์ชีวภาพรายใหญ่ที่สุดในโลกจากบราซิล จัดตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ พอลิเอทิลีน (Bio-PE) ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี ใช้เอทานอล 450 ล้านลิตรต่อปี

นอกจากนี้ การจัดตั้งโรงงานดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 โดยทุกตันของ Bio-PE ที่ผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์ตํ่ากว่าการนำปิโตรเลียมมาผลิตถึง 5 เท่า ซึ่งการผลิตพลาสติก 1 กิโลกรัมจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ราว 3.32 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนา BCG Model  เปิดเผยว่า หลังจากมีความชัดเจนด้านกฎหมายในการส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นแล้ว ระยะต่อไปคงจะมีการประกาศการร่วมทุนระหว่างบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และบริษัท Braskem (บราสเคม) ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลกจากประเทศบราซิลต่อไป

โครงการดังกล่าวได้มีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2564 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อผลิตไบโอ-เอทิลีน (bio-based ethylene) ซึ่งจะนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกประเภทไบโอ-พอลิเอทิลีน (bio-based polyethylene) ภายใต้แบรนด์ I’m GreenTM จัดส่งให้กับโรงงานเอลิเอทิลีน หรือ PE ของบริษัทฯ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพในเอเชียและตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ ที่บริษัท SCGC มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 และยังเป็นการดำเนินงานภายใต้แผนลงทุนของกลุ่ม SCC ราว 7 หมื่นล้านบาท เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ภายในปี 2593 อีกด้วย

ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการที่ลงทุนตั้งโรงานผลิตพลาสติกชีวภาพแล้ว อาทิ บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด (การลงทุนร่วมระหว่างบริษัท GC International Corporation และ บริษัท Cargill Incorporated ลงทุน 15,000 ล้านบาท ตั้งโรงงานในพื้นที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เพื่อผลิตโพลีแลคติคแอซิด (Polylactic Acid : PLA) พอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบปีละ 110,000 ตัน

บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด พลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) กำลังผลิตกำลังการผลิตราว 7.5 หมื่นตันต่อปี บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด โครงการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS (Polybutylene Succinate) กำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อปี บริษัท ไทยวา จำกัด โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด TPS (THERMOPLASTIC STARCH) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังของไทย และ บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PHA (POLYHYDROXYALKANOATE) และ PHA BIOPLASTIC COMPOUND และผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปจากพลาสติก PHA ซึ่งเป็นกิจการที่นำของเหลือทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต PHA กำลังผลิตที่ 1,100 ล้านชิ้นต่อปี เป็นต้น