พลังงานโร่แจงอากาศร้อนดันค่าไฟแพง ยันคิดราคาเดิม 4.72 บาท/หน่วย

27 เม.ย. 2566 | 10:53 น.

พลังงานโร่แจงอากาศร้อนดันค่าไฟแพง ยันคิดราคาเดิม 4.72 บาท/หน่วย ของงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ระบุอุณหภูมิภายนอกเพิ่มขึ้น 6 องศาเซลเซียส จะทำให้เครื่องปรับอากาศใช้ไฟมากขึ้นกว่า 15%

ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าไฟแพงในช่วงเดือนที่ผ่านมาว่า มีสาเหตุหลักจากอากาศร้อน และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นมากในปีนี้ ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น 

โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 37.2 องศาเซลเซียส ไปเป็น 44.6 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิที่สูงมายังมาพร้อมกับปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ “Monster Asian heatwave” โดยมีช่วงเวลาที่ความร้อนสูงสุดเพิ่มขึ้นไปถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย 

ทั้งนี้ อากาศร้อนมากขึ้นดังกล่าว ส่งผลต่อการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมากทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้ามีการกินไฟมากขึ้นโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ที่ต้องทำงานมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นหากอุณหภูมิภายนอกเพิ่มขึ้น 6 องศาเซลเซียส จะทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟมากขึ้นกว่า 15% 

“ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่าในเดือน เม.ย.นั้นค่าไฟไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่เป็นอัตราเดิมที่ใช้ในการคิดคำนวณค่าไฟสำหรับครัวเรือนในเดือน ม.ค. - เม.ย.ที่ราคา 4.72 บาทต่อหน่วยไม่ได้ปรับขึ้น"

อย่างไรก็ดี ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นมาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าคูณด้วยจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ เมื่อมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจึงต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หรือกล่าวง่ายๆก็คือยิ่งอากาศร้อนการใช้ไฟฟ้าก็จะมากขึ้นส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายมากขึ้น โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถดูปริมาณใช้ไฟฟ้าย้อนหลังได้ 6 เดือนเพื่อมาวิเคราะห์ และทำความเข้าใจค่าไฟของที่บ้านได้

พลังงานโร่แจงอากาศร้อนดันค่าไฟแพง ยันคิดราคาเดิม 4.72 บาท/หน่วย ดร.พิสุทธิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ค่าไฟที่แพงขึ้นยังมีสาเหตุอื่นอีก ได้แก่ ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าที่มาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถือเป็นต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% ของค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย โดยปัจจุบันต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2.74 บาทต่อหน่วย
 
สำหรับต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากสาเหตุหลักมาจากการที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงจากช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้าซึ่งราคา LNG มีราคาที่ผันผวน และปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่อ่อนค่าลงไปแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงที่มีการคำนวณอัตราค่าไฟในงวดปัจจุบัน 

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาค่าไฟที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนมาตลอดในส่วนของผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน 

โดยครัวเรือนที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย ได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) เกือบ 100% และในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 151 – 300 หน่วย ได้รับส่วนลดค่าFT 75% ซึ่งในส่วนดังกล่าวนี้ได้มีการช่วยเหลือประชาชนมาต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 1 ปี ถือว่าเป็นการดูแลช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของประชาชนกว่า 80% ของประชาชนในประเทศ 

“ปัญหาค่าไฟแพงมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งในเดือนที่ผ่านมายังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนราคาค่าไฟ แต่ส่วนใหญ่การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่มีการใช้เพื่อลดความร้อนของอุณหภูมิในช่วงกลางวัน ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประกอบกับบางส่วนประชาชนที่เคยได้รับส่วนลดค่าใช้ไฟฟ้าจากที่ใช้ไม่ได้เกิน 300 หน่วย ไม่ได้รับส่วนลดเนื่องจากมีการใช้ไฟฟ้าเกินจากเกณฑ์ที่จะได้รับส่วนลด"

เมื่อรวมกับเกณฑ์การคำนวณการใช้ไฟฟ้าแบบก้าวหน้าที่คิดราคาค่าไฟฟ้าจากผู้ที่ใช้ไฟมากแพงกว่าผู้ที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าก็ทำให้ค่าไฟปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งประชาชนสามารถช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าตามปลัก 4ป คือ ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน ซึ่งเป็นหลักการง่ายๆที่ช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าและช่วยให้ค่าไฟฟ้าของแต่ละบ้านลดลงได้