นายกฯสั่งลดค่าไฟภาคเอกชน-ลุ้น กกพ.เคาะตัวเลข 28 ธ.ค.นี้

26 ธ.ค. 2565 | 08:07 น.

นายกฯสั่งลดค่าไฟภาคเอกชน-ลุ้น กกพ.เคาะตัวเลขพุธนี้ (28 ธ.ค. ) หลังเอกชนเรียกร้องขอให้ทบทวน "สุพัฒนพงษ์" ลั่นพร้อมถกหาคำตอบร่วมกัน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ค่าไฟภาคเอกชนน่าจะปรับลดลงได้จากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ที่ 5.69 บาทต่อหน่วย 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันทาง กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางและอัตราที่เหมาะสม คาดว่าค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) ของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น จะลดลงจากอัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วยได้ แต่จะลดลงได้มากน้อยหรืออยู่ในระดับใด ยังต้องรอความชัดเจนที่ กกพ. จะมีการประชุมหารือในวันพุธ (28 ธ.ค.) 

 

"นายกฯ สั่งให้ตนลดราคา เพื่อบรรเทาผลกระทบแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 66 สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นลงจาก 5.69 บาทต่อหน่วย ตามเสียงเรียกร้องของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้นได้หารือกับ กกพ.ให้รับทราบนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยลดภาระให้กับกลุ่มดังกล่าวแล้ว ซึ่ง ปตท.เองก็เชื่อว่าจะพิจารณาช่วยเหลือตามกรอบที่ทำได้”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า พร้อมที่จะหารือกับภาคเอกชน ต้องการให้มีคำตอบร่วมกัน โดยหากธนาคารพาณิชย์ช่วยลดดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมมือลดใช้พลังงาน และบริหารจัดการใช้พลังงานเพื่อลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะทำให้ค่าไฟลดลงไปได้ 

 

สำหรับในปี 65 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะความผันผวนด้านพลังงานทั้งปัจจัยจากสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน การลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และค่าครองชีพประชาชนปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการสำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านราคาพลังงานที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว 

 

 

นายกฯสั่งลดค่าไฟภาคเอกชน

 

อย่างไรก็ดี ในปี 66 คาดว่าสถานการณ์ความผันผวนด้านพลังงานจะยังคงอยู่ และเพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวเดินหน้าไปได้ต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานจึงดำเนินโครงการสำหรับช่วยเหลือประชาชนสำหรับก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อลดต้นทุนค่าครองชีพต่อเนื่องจากปี 2565 โดยตรึงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 

 

และช่วยส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566อกจากนี้ ปตท.ยังคงให้ส่วนลดแก่ร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหารที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าครองชีพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566
 

ส่วนทิศทางของนโยบายพลังงานในปี 66 นั้น ยังต้องติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการพลังงานให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น กระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) นอกจากจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

 

ทั้งการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดให้เป็นไปตามเป้าหมาย การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) พร้อมไปกับติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์ราคาพลังงาน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างพันธมิตรและร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ตามเป้าหมาย

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บอร์ด ปตท. เตรียมพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านพลังงาน 6,000 ล้านบาทตามมติคณะกรรมหารพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยได้มีการหารือต่อเนื่องจากรอบที่แล้ว ซึ่งได้หารือกันเบื้องต้นไปแล้ว

 

"วิธีการช่วยทำได้หลายวิธีอาจจะไม่ได้เป็นในรูปตัวเงินก็ได้เพียงแต่บริหารจัดการอย่างไรให้ต้นทุนลดลงไปให้ได้ เพื่อทดแทน หรือนำส่วนที่ลดลงมาช่วยภาคประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งการดำเนินงานก็จะดูแลไม่ให้มากระทบผลการดำเนินงาน ปตท."