กังขา กฟผ. นายหน้าค้าไฟฟ้า ฟันกำไรอื้อ

14 ธ.ค. 2565 | 07:46 น.

กังขา กฟผ. นายหน้าค้าไฟฟ้า ฟันกำไรอื้อ หลังพบเจ้าเดียวมีกำไรมากกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 12 รายรวมกัน เสมือนผู้ผูกขาด

ประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้ากำลังร้อนฉ่า ทั้งเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟที (FT) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ที่ยังไร้ข้อสรุป ทั้งที่เวลาล่วงเลยใกล้ถึงกลางเดือนธันวาคม
 

ขณะที่ประเด็นเรื่องการเปิดให้เอกชนยื่นคำขอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวน 303 โครงกา จากทั้งหมด 670 โครงการ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กลับพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่าง บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นมากที่สุดถึง 50 โครงการ 

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ปรอทเดือดไม่แพ้กัน เมื่อมีรายงานข่าวว่า กำไรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพียงเจ้าเดียว มากกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 12 รายรวมกัน เพราะเป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด และเป็นนายหน้าค้าไฟฟ้า ซื้อจากเอกชนมาขายต่อให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)-การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  กินส่วนต่าง เนื่องจากผูกขาดสายส่งแต่เพียงผู้เดียว 

หากไปดูข้อมูลจะพบว่าปัจจุบัน กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 32% หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 42,000 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 2 ใน 3 เป็นการผลิตของโรงไฟฟ้าเอกชน

 

ขณะที่สัดส่วนไฟฟ้า 2 ใน 3 ที่เอกชนผลิตมาจากโรงไฟฟ้าประมาณ 30 ราย เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 7 ราย แต่ก็มี 2 รายที่ กฟผ. ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป  ถือหุ้น 25% และราชกรุ๊ป  ซึ่ง กฟผ. ถือหุ้น 45% ดังนั้ยน กฟผ. จึงเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งถึง 1 ใน 3

 

กังขา กฟผ. นายหน้าค้าไฟฟ้า ฟันกำไรอื้อ

จากภาพรวมที่เห็นหากมองในเชิงโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทย กฟผ.จึงมีสถานะเป็นเสมือนผู้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว เพราะเป็นทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด และผู้จัดจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟน. และ กฟภ. นำไปขายต่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน

 

หากมองในมุมทางการค้าจะเรียกได้ว่า กฟผ. เป็นทั้งเจ้าของโรงงาน และนายหน้าค้าไฟฟ้ารายเดียวในประเทศไทย จากการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ในราคาคงที่ตลอดอายุสัญญา 25 ปี มาขายต่อ เพราะเป็นผู้คุมช่องทางการจัดจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย

จากข้อมูลพบว่าปีที่ผ่านมา กฟผ. มีรายได้จากการขายไฟฟ้า 556,331 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน ประมาณ 59,000 ล้านบาท ขณะที่ กฟภ. มีกำไร 14,059 ล้านบาท กฟน.มีกำไร 4,637 ล้านบาท

 

รวมแล้วทั้ง 3 รายซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า และจัดจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศไทยมีกำไรรวม 78,000 ล้านบาท โดยที่ กฟผ. มีกำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรรมากถึง 374,525 ล้านบาท

 

เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 12 ราย มีกำไรรวมกันประมาณ 50,000 ล้านบาท เอกชน 12 รายยังกำไรไม่เท่า กฟผ.รายเดียว เพราะมีรายได้จากการขายไฟเท่านั้น

 

ขณะที่ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าขายเองด้วย รับซื้อจากเอกชนมาขายต่อด้วย ทำให้มีรายได้ทั้งจากการผลิตและเป็นนายหน้าค้าไฟฟ้า ในฐานะหน่วยงานของรัฐด้านพลังงานไฟฟ้า การเป็นทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ และเจ้าของโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว 

 

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ควบคุมศูนย์สั่งจ่ายไฟฟ้า ทำให้ กฟผ. มีอำนาจและขีดความสามารถที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน