เอกชนขู่ขึ้นราคาสินค้า 5-12% หากค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.66 ปรับขึ้น

14 ธ.ค. 2565 | 02:10 น.

เอกชนขู่ขึ้นราคาสินค้า 5-12% หากค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.66 ปรับขึ้น ระบุกระทบความสามารถทางการแข่งขัน เป็นอุปสรรคในการดูดทุนต่างชาติเข้าไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หากรัฐบาลพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (FT) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 เพิ่มขึ้นอีกจากปัจจุบันที่ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยจะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าโดยเฉลี่ยประมาณ 5-12% 

 

อีกทั้ง ยังจะกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่กำลังย้ายฐานท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย

 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปี 66 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ละประเทศแข่งขันกันสูงขึ้นทั้งการส่งออก และดึงดูดลงทุนที่กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน ไทยมีจุดเด่นหลายอย่างแต่ค่าไฟที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับเวียดนามที่อยู่เพียง 2.88 บาทต่อหน่วย จะส่งผลต่อขีดการแข่งขันให้ยิ่งลดต่ำลงไปอีก

 

อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติพบว่าค่าไฟฟ้าของไทยค่อนข้างสูง และเมื่อต้องเสนอเข้าบอร์ดบริษัทแม่ก็มักจะไม่ผ่านในประเด็นนี้ ซึ่งเป็นการบั่นทอนการตัดสินใจการลงทุนของต่างชาติ          

 

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าต้นเหตุแห่งวิกฤติค่าไฟหลัก ๆ มาจากการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณที่ล่าช้า จนทำให้ต้องไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว แอลเอ็นจี ตลาดจรที่ราคาสูงมากมาผลิตไฟแทน และขาดแผนรับมือล่วงหน้าอย่างทันท่วงที

และค่าไฟที่สูงขึ้นมาจากสำรองที่สูงกว่าปกติจากการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการ แต่สัญญายังกำหนดให้รับซื้อไฟจากเอกชนต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายคือ ไม่ผลิตไฟก็ต้องจ่ายเงินให้กลายเป็นภาระต้นทุนยิ่งสูงขึ้น และเป็นการเปิดซื้อไฟมากเกินความจำเป็น ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ไขประเด็นเหล่านี้และเร่งเปิดไฟฟ้าเสรี