‘บลู โอเชียนฯ’ เปลี่ยนกระบวนคิดและลงมือทำ แปลงขยะพลาสติกสู่สินค้าใหม่

22 เม.ย. 2566 | 06:51 น.

“บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง” ผนึกชุมชนเกาะสมุย นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนขยะพลาสติก เป็นพลาสติกรีไซเคิล สู่การผลิตสร้างสินค้าใหม่ที่ได้รับการรับรองด้านความยั่งยืน ตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า 

ดร.มิเชล พาร์โดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ขึ้นในปี 2565 กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เดินหน้าแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล โดยการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการที่ จ.ระนอง สู่เกาะสมุย โดยการสนับสนุนจากเซคเคินด์มิวส์ และ ไทด์ โอเชียน แมทีเรียล (Tide Ocean Material) รวมทั้งชุมชนบนเกาะสมุย เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกที่มีการจัดเก็บ มาเป็นพลาสติกรีไซเคิลที่ได้รับการรับรองด้านความยั่งยืน (sustainability-certified recycled plastic) 
  ‘บลู โอเชียนฯ’ เปลี่ยนกระบวนคิดและลงมือทำ แปลงขยะพลาสติกสู่สินค้าใหม่

พลาสติกรีไซเคิลที่ได้ จะถูกนำไปใช้ผลิตสินค้าประเภทต่างๆ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อติดตามประวัติของผลิตภัณฑ์ได้ทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า เริ่มตั้งแต่คนเก็บขยะ คนรวบรวมขยะ ไปจนถึงบริษัทหรือแบรนด์ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนต้นทาง 

“กระบวนการทั้งหมด ได้รับการรับรองและตรวจสอบโดยองค์กรที่เป็นบุคคลที่ 3 เช่นเดียวกับโครงการที่จังหวัดระนอง เพื่อให้มั่นใจว่าพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตได้นั้น มาจากการจัดเก็บขยะพลาสติกตามแนวทางที่ยั่งยืน และก่อเกิดเป็นรายได้กลับคืนสู่ชุมชนโดยตรง”  
 

‘บลู โอเชียนฯ’ เปลี่ยนกระบวนคิดและลงมือทำ แปลงขยะพลาสติกสู่สินค้าใหม่

โครงการของบลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง เป็นความพยายามในการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดเก็บขยะ เพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่คุณค่า สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนต้นทาง ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการรีไซเคิลขยะพลาสติกที่ยั่งยืนในระยะยาว ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการทำงาน แสดงความเห็นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น จุดรวบรวมขยะในโรงเรียนและที่ตั้งของศูนย์รับขยะรอบเกาะ 

นอกจากนี้ ยังลดความเชื่อผิดๆ ทางสังคม เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับอาชีพคนเก็บขยะนอกระบบ ที่มีอยู่ประมาณ 7.5 แสน-1.5 ล้านคนในไทย ที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งสกปรก ซึ่งจริงๆ แล้ว พวกเขาคือ คนที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืนให้แก่ทุกคน โดยพลาสติกรีไซเคิลจากโครงการนี้ สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าคุณภาพสูง เช่น นาฬิกาข้อมือ รุ่น AIKON #tide ของ Maurice Lacroix 
 

“อนุศิษย์ ศรีษะย์” คนรับซื้อขยะจากโครงการเพื่อนำไปรีไซเคิล กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการ และยังมีมุมมองที่กว้างขึ้นต่อสิ่งที่ทำอยู่ ทำให้อยากเรียนและใช้ภาษาอังกฤษให้เก่งขึ้น และอยากเป็นคนซื้อขายพลาสติกหรือขยะระดับอินเตอร์ฯ
  ‘บลู โอเชียนฯ’ เปลี่ยนกระบวนคิดและลงมือทำ แปลงขยะพลาสติกสู่สินค้าใหม่

โครงการของ บลู โอเชียน พลาสติก รีไซคลิ่ง ดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยตั้งเป้ารีไซเคิลหรือเปลี่ยนเส้นทางขยะที่เข้าสู่บ่อฝังกลบให้ได้ 100% และลดปริมาณขยะที่มีโอกาสรั่วไหลลงสู่ทะเลให้ได้ 50% ภายในปี พ.ศ.2570 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,880 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2566