พลังงานหนุนเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ - ก๊าซชีวภาพ ช่วยวิสาหกิจชุมชน

21 ม.ค. 2566 | 08:58 น.

พลังงานหนุนเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ - ก๊าซชีวภาพ ช่วยวิสาหกิจชุมชนพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขยายการใช้พลังงานทดแทน

นายชำนาญ กายประสิทธิ์ พลังงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงาน ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) แบบ On Grid ที่เชื่อมต่อระบบสายส่งจากการไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำดื่มบ้านศรีโพธาราม ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบลและเครือข่ายพลังงานชุมชน ปี 2564 โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ได้ลงพื้นที่เพื่อช่วยประเมินศักยภาพ ข้อมูลเชิงเทคนิคและวิชาการ สำหรับเทคโนโลยีพลังงานที่จะส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนฯ 

สำหรับผลลัพธ์จากการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานช่วยลดรายจ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 90% มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10,000 บาทต่อเดือนจากการผลิตน้ำขายได้มากขึ้น และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเพราะเชื่อมั่นในเทคโนโลยีพลังงานที่นำมาช่วยลดรายจ่าย 
 

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยประหยัดค่าพลังงาน ยังเป็นแนวทางช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง พึ่งตนเอง ลดผลกระทบจากราคาพลังงานหรือค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่วยลดการพึ่งการการนำเข้าก๊าซธรรมาชาติที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าในประเทศได้อีกด้วย

กระทรวงพลังงานหนุนโซลาร์เซลล์ให้วิสาหกิจชุมชน นายชำนาญ กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานยังได้ดำเนินการโครงการระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบมูลฝอย เพื่อขยายการใช้พลังงานทดแทนในภาคครัวเรือน ต.บงตัน อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ 

โดยเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงพลังงานสนุบสนุนเทคโนโลยีพลังงานระบบก๊าซชีวภาพแบบเครือข่าย ที่มีระยะทางรวมแล้วไม่น้อยกว่า 27 กิโลเมตร ให้กับกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ ต.บงตัน อ.ดอยเต่า จำนวน 300 ครัวเรือน 

โครงการระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบมูลฝอย สำหรับก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะมีประมาณ 70,000 ลูกบาศเมตร (ลบ.ม.)ต่อวัน ใช้ผลิตไฟฟ้า 30,000 ลบ.ม.ต่อวัน และส่งไปให้ชุมชนบ้านป่าขาม และแม่ยุย เขตเทศบาลตำบลบ้านตาล อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ จำนวน 200 ครัวเรือน (เดิม) ยังเหลือก๊าซที่ต้องเผาทิ้งอีกเป็นจำนวนมาก ประมาณ 39,500 ลบ.ม.ต่อวัน 

การส่งให้ชุมชนใช้ประโยชน์ในโครงการนี้ 500-600 ลบ.ม.ต่อวัน จึงเกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งหลุมฝังกลบ และครัวเรือน โดยจ่ายก๊าซชีวภาพให้ 300 ครัวเรือน ตลอด 24 ชั่วโมง ปริมาณกำหนดไว้ไม่เกิน 1,000 ลบ.ม.ต่อวัน

โครงการดังกล่าวสามารถทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) ในครัวเรือนได้ ประมาณ 0.25 กิโลกรัมต่อครัวเรือนต่อวัน เป็นระยะเวลา 365 วันต่อปี หรือประมาณ 91.25 กิโลกรัมต่อปีต่อครัวเรือน มีครัวเรือนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 300 ครัวเรือน ช่วยลดการใช้ก๊าซหุงต้มได้ไม่น้อยกว่า 27,375 กิโลกรัมต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 574,875 บาทต่อปี (ที่ราคา LPG 21 บาทต่อกิโลกรัม) เทียบเท่า 31.95 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี