สศช.แนะเอกชนปรับ CSR ปลูกป่า เป็นลงทุนตลาดคาร์บอนเครดิต

20 ม.ค. 2566 | 08:27 น.

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สศช. แนะภาคเอกชน ปรับเปลี่ยนวิธีทำ CSR ปลูกป่า ไปเป็นการลงทุนในตลาดคาร์บอนเครดิตแทน เชื่อได้ประโยชน์มากกว่า และยังสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยในเวทีผู้นำ CAL Forum รุ่นที่ 2 เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจรวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า อยากให้ภาคเอกชนเปลี่ยนการจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม CSR ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปลูกป่า ไปเป็นการลงทุนในตลาดคาร์บอนแทน 

ทั้งนี้มองว่า การทำกิจกรรมในรูปแบบเดิม ๆ อาจไม่ได้ผลอะไรมากนัก และที่ผ่านมาในด้านการลงทุนผ่านตลาดคาร์บอน และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ก็มีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น และในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐเองก็ได้สร้างระบบนิเวศเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตไว้รองรับแล้ว

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนเองสามารถเข้ามาลงทุนผ่านตลาดนี้ได้ โดยจะช่วยสร้างแรงจูงใจในด้านการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอาการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวในเวทีผู้นำ CAL Forum รุ่นที่ 2

“การทำ CSR ปลูกป่า ที่หลายภาคเอกชนเคยทำ ในตอนนี้ควรเปลี่ยนไปเป็นการลงทุนแทน ซึ่งสามารถทำได้ และเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ได้ แถมยังช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับภาคอุตสาหกรรมในการดำเนินการสร้างความเป็นมติต่อสิ่งแวดล้อมด้วย” นายดนุชา ระบุ

นายดนุชา กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลได้เตรียมเอาไว้ในตอนนี้ คือ การกำหนดสิทธิประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการลงทุน เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนในภาคการผลิต เช่นเดียวกับการกำหนดแผนต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดรายละเอียดของการขับเคลื่อนไว้อย่างชัดเจน นั่นคือในช่วง 5 ปีจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20%

อย่างไรก็ตาม สศช. มองว่า แม้รัฐจะกำหนดแผนไว้ชัดเจน รู้ปัญหา รู้ทางออกในการแก้ปัญหา แต่สุดท้ายแล้วการดำเนินการทั้งหมดก็ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันนี้มีหลายหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนได้เริ่มต้นไปแล้ว และจากนี้จึงอยากให้มีการขยายผลต่อไป