ประธานดาวฯ ย้ำ องค์กรยุคใหม่ต้องใส่ใจ ESG 

04 ต.ค. 2565 | 05:20 น.

"จอน เพนไรซ์" ประธานบริษัทดาว เอเชีย แปซิฟิก เผยกลยุทธ์รับมือความท้าทายของปี 2023 ระบุ องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมีกลยุทธ์รับกติกาโลกใหม่ ใส่ใจแนวคิด ESG และวิธีการดำเนินธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเพื่อพร้อมรับมือบริบทเศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก

จอน เพนไรซ์ ประธาน บริษัทดาว ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก (Dow Asia Pacific) ร่วม การสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและสื่อในเครือเนชั่นกรุ๊ป ผ่านทางระบบประชุมทางไกลวันนี้ (4 ต.ค.) ภายใต้หัวข้อ New World Order: New Strategy ระบุว่า ผู้ประกอบการธุรกิจจำเป็นต้องมีกลยุทธ์รับมือกติกาโลกใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการดำเนินธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก

 

ทั้งนี้ เนื่องจากบริบทที่โลกกำลังเผชิญอยู่นั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆทั่วโลก นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนที่กระทบระบบซัพพลายเชนอย่างรุนแรง อีกทั้งสงครามในยูเครน การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และแบงก์ชาติทั่วโลก รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน

 

ทั้งหมดนี้ทำให้ยากที่จะคาดเดาสถานการณ์ภายภาคหน้า องค์กรธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต้องเตรียมพร้อมเสมอกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้น

ดาวฯเองเป็นองค์กรที่มีแนวทางดำเนินธุรกิจในสภาวะเช่นนี้อย่างไรบ้าง

 

ประการแรกคือ ดาวยึดมั่นการดำเนินธุรกิจโดยมองลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง รักษาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น ไว้วางใจได้เสมอ นอกจากนี้ ยังต้องมีการยืดหยุ่นปรับตัวตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปให้ไว ควบคุมต้นทุนการผลิต ต้นทุนการดำเนินงาน เพราะท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบันที่ราคาพลังงานเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้น ต้นทุนธุรกิจจะเพิ่มสูงขึ้น ต้องบริหารจัดการและควบคุมหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ที่สำคัญคือ การปรับตัวตามกระแสโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่จะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายให้กับทุกภาคส่วน ทำให้ดาวฯ เองในฐานะองค์กรธุรกิจมีนโยบายที่ชัดเจนและมุ่งมั่นในพันธกิจนี้ (การลดปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิตและการดำเนินงาน)

  ประธานดาวฯ ย้ำ องค์กรยุคใหม่ต้องใส่ใจ ESG    

ด้วยเหตุนี้ ดาวจึงให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG ซึ่งจะมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆในอนาคตข้างหน้า เหตุใดจึงกล่าวเช่นนั้น?  ESG ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social และ Governance เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน ESG ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกเนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน โดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ  

  • Environment สิ่งแวดล้อม 
  • Social สังคม 
  • Governance การกำกับดูแล 

 

โดย Environment เป็นหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงด้านความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการตั้งเป้าที่จะลด-เลิกการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น เป็นต้น ส่วน Social เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสารกับพนักงาน ซัพพลายเออร์ ลูกค้า รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) อย่างไรบ้าง ขณะที่ Governance เป็นหลักการที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการ บริหารความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย

 

แนวคิด ESG นี้ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันนักลงทุนเองก็สนใจลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG ด้วย 


"ปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน เราจำเป็นต้องทำเพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจเราจะได้รับประโยชน์ และนั่นหมายรวมถึงโลกเราด้วย" ไรซ์ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า ในการเผชิญความยากลำบากที่กำลังรออยู่ในปี 2023 และอนาคตที่ยากจะคาดเดา สิ่งที่จะเป็นความแข็งแกร่งขององค์กรนั่นก็คือ การมีทีมบุคลากรที่แข็งแกร่ง มีความสามารถ และจากประสบการณ์ของดาวฯ ซึ่งเป็นผู้นำด้านเคมีภัณฑ์และเทคโนโลยีวัสดุระดับโลก พบว่า 83% ของพนักงาน(โดยทั่วไป) พึงพอใจที่จะทำงานร่วมกับองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสังคม และราว 85% พึงพอใจที่จะทำงานกับองค์กรที่ใช้แนวคิด ESG

 

ที่สำคัญคือ การใช้กลยุทธ์ ESG ยังสามารถทำให้องค์กรธุรกิจได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นและทำกำไรได้มากขึ้นในระยะยาวด้วย