"มวยไทย" ซอฟท์เพาเวอร์แสนล้าน เครื่องจักรใหม่ปลุกเศรษฐกิจไทย

21 ส.ค. 2566 | 04:02 น.

ผ่านโยบาย "มวยไทย" ซอฟท์เพาเวอร์ของไทย ที่คาดว่ามีมูลค่าสูงถึง "แสนล้านบาท" นับเป็นเครื่องจักรตัวใหม่ของเศรษฐกิจไทย ที่รัฐบาลและทุกฝ่ายกำลังผลักดัน

"มวยไทย" หนึ่งในนโยบาย 5F ซอฟท์เพาเวอร์ ของรัฐบาลไทย ที่เชื่อมั่นว่าจะช่วยปลุกเศรษฐกิจไทยของไทย  ประกอบด้วย อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) เทศกาลประเพณีไทย (Festival) และศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting)  

มีการประเมินมูลค่าของมวยไทยว่า สามารถขับเคลื่อนไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในทุกรูปแบบไม่ว่าจะด้านอุตสาหกรรมสินค้าประเภทมวยไทย อุตสาหกรรมด้านบริการ และด้านการท่องเที่ยว สามารถสร้างเศรษฐกิจได้เป็นแสนล้าน

และสามารถพัฒนาต่อยอดให้สูงขึ้นเรื่อยจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับสากลและไปสู่จุดสูงสุดในระดับโลก คือผลักดันกีฬามวยไทยให้ได้รับการบรรจุเข้าร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน ค.ศ.2028 ที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา

นายพิพัฒน์ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ว่า ด้วยรัฐบาลมีความชื่นชมและภูมิใจในความสามารถของคนไทยที่สามารถนำวิจิตรศิลป์ของไทยในแขนงต่างๆมาสร้างสรรค์ร่วมกับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งรัฐบาลเร่งเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย “ปัญญา” “สร้างสรรค์” มีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากไทยมีจุดเด่นและความพร้อมด้านทุนวัฒนธรรมต่างๆที่สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก มาสร้างสรรค์จนกลายเป็น Soft power เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและให้เป็นที่รู้จัก และเผยแพร่ไปทั่วโลก ด้วยวัฒนธรรมของไทยที่มีศักยภาพ 5F 

นายพิพัฒน์ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

"โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กีฬามวยไทย ถือเป็นศิลปะการต่อสู้ได้รับความนิยม มีความงดงามในท่วงท่าการเคลื่อนไหว รวมทั้งยังนำไปประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่ทุกคนสามารถฝึกฝนได้ ซึ่งสามารถขยายประเภทออกเป็นสินค้าและบริการ ท่องเที่ยวได้จำนวนมากได้อีกด้วย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะใช้ มวยไทย เป็นกลไกสำคัญในการสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทยของเรา จึงได้มีนโยบาย ให้การกีฬาแห่งประเทศไทยไปพัฒนา การส่งเสริมกีฬามวยให้เป็นรูปธรรมและทั่วถึง"

 

สื่อทีวี ทุ่มทุนสร้างปรับผังรับถ่ายทอดสดมวยไทย

ข้อมูลจากการกีฬาแห่งประเทศไทยพบว่า ช่วงก่อนการระบาดของสถานการณ์โควิดระบาด มีการจดทะเบียนกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ของค่ายมวยไทยในประเทศไทยทั้งหมดกว่า 5,100 ค่าย โดยในจำนวนนี้บุคลากรผู้ฝึกสอนมวยทั้งหมด 1,518 คน ผู้ตัดสินมีทั้งหมด 2,043 คน มีผู้จัดการแข่งขันมีทั้งหมด 3,148 คน มีนายสนามมวย 37 คน

จึงน่าแปลกใจว่าทำไม ทีวีหลายช่องทุ่มทุนให้กับผังรายการมวย ทั้งช่วงชิงเรตติ้งและเม็ดเงินในอุตสาหกรรมมวยไทยและพบว่าแต่ละเวทีล้วนมีแต่นักมวยไทยจากต่างชาติเข้าร่วมแข่งขัน

รถถัง จิตรเมืองนนท์

 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด อย่างเช่นช่องเวิร์คพ็อยท์มี มวย RWS จัดที่เวทีราชดำเนิน ช่อง 8 มีมวยไทยซุปเปอร์แชมป์ และที่น่าสนใจคือ ช่อง 7HD ที่ตัดใจทิ้งผังละครหลังข่าวคืนวันศุกร์ให้กับมวย "One Lunpinee(วันลุมพินี) ซึ่งเป็นสาขาย่อยของมวย "One Championship" ที่มีคนดูทั่วโลก จนเกิด "รถถัง จิตรเมืองนนท์" แชมป์โลกมวย One Championships คนไทยที่ทั่วโลกรู้จักชื่อนี้ในปี 2023 ไม่แพ้ "บัวขาว บัญชาเมฆ" ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของมวยไทยที่ต่างชาติรู้จักดี 

\"มวยไทย\" ซอฟท์เพาเวอร์แสนล้าน เครื่องจักรใหม่ปลุกเศรษฐกิจไทย

 

เปรม อริยะวัฏ บุษราบวรวงษ์ กรรมการผู้จัดการวัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้ ONE ลุมพินี กลายเป็นรายการมวยไทยที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก ทำให้ทุกคนทุกเพศ ทุกวัย จากทั่วโลก หันมาสนใจมวยไทย เพราะมีการนำเสนอมวยไทยให้มีความตื่นเต้นเร้าใจ มีความทันมสมัย เป็นสากลมากขึ้น

เปรม อริยะวัฏ บุษราบวรวงษ์ กรรมการผู้จัดการวัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย

“ตอนนี้แนวคิดของคำว่า มวยไทย ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ช่วงที่ผ่านมา ONE มอบเงินให้ค่ายมวยเล็กๆ ที่ยากไร้ทั่วประเทศกว่า 20 ล้านบาท จำนวน 40 ค่าย ค่ายละ 5 แสนบาทต่อเดือน และเราก็ไม่ได้เข้าไปครอบงำ หรือมีข้อผูกมัดในสัญญาใดๆ ทั้งสิ้นว่าพวกเขาจะต้องปั้นนักมวยส่งชกเฉพาะรายการที่เกี่ยวข้องกับ ONE เท่านั้น เขาจะปั้นนักมวยไปแข่งขันที่ไหนก็ได้ เพียงแต่ทุกค่ายที่ได้รับเงินสนับสนุนแต่ละเดือนก็จะต้องส่งรีพอร์ตมาว่ารับเงินเราไปแล้วนำไปพัฒนา หรือต่อยอดอะไรบ้าง ถ้าค่ายเหล่านั้นไม่มีการนำเงินไปต่อยอด เราก็หยุดสนับสนุน”

 

ภาครัฐโรดโชว์เผยแพร่ "มวยไทย" ไปทั่วโลก 

 

ข่าวดีของ “มวยไทย” ศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศไทย ได้รับการบรรจุเป็นชนิดกีฬาในการแข่งขัน European Games 2023 จัดขึ้นที่ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2566 สะท้อนความนิยมของมวยไทยในระดับสากล และเป็นความก้าวหน้าสำคัญในการผลักดันมวยไทยเป็น Soft Power 5F

ล่าสุดเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา งานเทศกาลไทยในกรุงวอชิงตัน SAWASDEE DC เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์190 ปี ไทย-สหรัฐอเมริกา ที่เนชั่นแนล มอลล์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน มีโครงการเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยการแข่งขันกีฬามวยไทย ซอฟท์เพาเวอร์สู่นานาชาติ 

\"มวยไทย\" ซอฟท์เพาเวอร์แสนล้าน เครื่องจักรใหม่ปลุกเศรษฐกิจไทย

 

มี 5 หน่วยงานหลักร่วมกันรับผิดชอบโครงการได้แก่ สหพันธ์สมาคมกีฬามวยไทยนานาชาติ (IFMA), สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย, กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF), การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. โดยมีผู้เข้าร่วมงาน อาทิ สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการอิฟม่า, "ชาติซ้าย" นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย, ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) รวมไปถึง บัวขาว บัญชาเมฆ นักมวยไทยชื่อดัง ท่ามกลางแฟนมวยไทยชาวสหรัฐฯ ที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง 

ย้อนไปก่อนหน้านั้นเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา "การกีฬาแห่งประเทศไทยกกท.)" เปิดบูธ “มวยไทย” ของกกท.ในงาน WTM 2022 ที่ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าเอ็กเซล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยได้นำ บัวขาว บัญชาเมฆ นักมวยไทยชื่อดัง ร่วมแสดงศิลปะแม่ไม้มวยไทย และได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) ภายในมหกรรมส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยว World Travel Market 2022 (WTM)

\"มวยไทย\" ซอฟท์เพาเวอร์แสนล้าน เครื่องจักรใหม่ปลุกเศรษฐกิจไทย

 

ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF ) หนึ่งในคณะของประเทศไทยที่ร่วมออกบูธ ระบุว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนฯ และประธานกรรมการคณะกรรมการ กกท. ในการสนับสนุนภารกิจหลักของ กกท. ในการจัดบูธส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของกองทุนฯ

ความสำเร็จของการแสดงบูธประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงกีฬา ภายในงานดังกล่าวนั้น ได้มีการนำ “มวยไทย” ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติที่เป็น “ซอฟต์ เพาเวอร์” ของประเทศไทยไปเผยแพร่ในต่างแดน ซึ่งนอกจากทำให้ชาวต่างชาติ และผู้เข้าร่วมงานได้รับการเผยแพร่มรดกมวยไทยแล้ว ยังทำให้องค์กรกีฬามวยในต่างประเทศ ได้เข้าถึงสำนักงานกีฬามวยไทยที่อยู่ใต้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) อีกด้วย

ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF )

 

“ภารกิจในครั้งนี้มวยไทยได้รับโอกาสไปขึ้นแสดงสาธิต และโชว์อีกด้วย ซึ่งเป็นการเปิดประตูสู่นานาชาติให้รับรู้ และเข้าใจ เรื่องมาตรฐานมวยไทยที่ถูกต้องตรงภายใต้สหพันธ์มวยไทยนานาชาติ หรือ International Federation of Muaythai Associations : IFMA และมาตรฐานมวยไทย หรือ One Standard Muaythai (OSM) อีกด้วย”

 ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนฯ ได้จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมมวยไทยตั้งแต่รากหญ้า ไปจนถึงมวยไทยอาชีพ โดยเล็งเห็นว่า การผลักดันมวยไทยเข้าสู่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ในอนาคตนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้มวยไทยมีภาพพจน์ความเป็นกีฬาที่ชัดเจน และแสดงให้เห็นว่ามวยไทยไม่ใช่ความรุนแรง รวมทั้งมีระบบความปลอดภัยกำกับอยู่อีกด้วย

 

เปิดงานวิจัย ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงกีฬามวยไทย ช่วยปลุกเศรษฐกิจ

 

"ฐานเศรษฐกิจ" พบว่ามีรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง รูปแบบธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงกีฬามวยไทย: เมืองกีฬาจังหวัดชลบุรี Muay Thai sports tourism business model: Sports City, Chonburi Province ของมหาวิทยาลัยบูรพา เผยแพร่เมื่อมิถุนายน 2564 ระบุ ตอนหนึ่งของงานวิจัยว่า 

กีฬามวยไทยเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากปัจจุบันนี้มวยไทยกําลังเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น เพราะการแข่งขันไทยไฟต์ได้ทําการแข่งขันใน ต่างประเทศหลายประเทศวนเวียนกัน ทําให้ชาวต่างชาติรู้จักมวยไทยมากขึ้น และมาเข้าชมกันเป็น จํานวนมาก และแม็กซ์มวยไทยจะมีการจัดการแข่งขันชกมวยทุกวัน เพื่อทําการโชว์ให้กับนักท่องเที่ยว ต่างชาติที่มากับกลุ่มบริษัททัวร์

\"มวยไทย\" ซอฟท์เพาเวอร์แสนล้าน เครื่องจักรใหม่ปลุกเศรษฐกิจไทย

 

และยังมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวด้วยตัวเองเข้ามาชมการแข่งขันชกมวยไทยเป็นจํานวนมาก จึงทําให้ชาวต่างชาตินิยมมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพื่อชมกีฬามวยไทย และในบางคนก็เข้ามาเพื่อต้องการศึกษาเล่าเรียนในวิชาศิลปะแม่ไม้มวยไทย จึงทําให้กีฬามวยไทยเริ่มเป็นที่ต้องการในตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ 

เริ่มมีการจัดการแสดงโชว์กีฬามวยไทยมากขึ้น และยังมีโรงเรียนสอนมวยไทยเกิดขึ้นเป็นจํานวนมาก แต่ยังขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทําให้การมาท่องเที่ยวเพื่อมาเรียนศิลปะแม่ไม้มวยไทยนั้นยังไม่ค่อยดีพอ และยังไม่มีความพร้อมต่อการบริการนักท่องเที่ยวในหลายๆ ด้าน

อาทิเช่น การจัดการสถานที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว การติดต่อสื่อสารภาษาที่สาม การอํานวยความสะดวกในเรื่องของการเดินทาง สถานที่จอดรถ การจัดการแข่งขันชกมวยในชนบทมักจะขาดเงินทุนในการจัดการแข่งขัน เป็นต้น 

ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะการพัฒนารูปแบบธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงกีฬามวยไทย เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มและรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมสําหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬามวยไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเครือข่ายระหว่าง อุปสงค์ อุปทาน กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬามวยไทยให้เกิดแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬามวยไทยร่วมกันให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยต่อไป

 

เดินหน้าจัดตั้ง "สถาบันมวยไทยแห่งชาติ" รองรับซอฟท์เพาเวอร์

ช่วงปลายปี 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรีว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้หารือร่วมกับ กระทรวงการคลัง มหาดไทย สาธารณสุข แรงงาน นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาข้อเสนอของ คณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา เกี่ยวกับแนวทาการจัดตั้ง "สถาบันมวยไทยแห่งชาติ" โดยที่ประชุมได้เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คณะกรรมาธิการการกีฬาฯ และได้มอบหมายให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย ดำเนินการพิจารณาบทบาทหน้าที่ 

รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดตั้ง สถาบันมวยไทยแห่งชาติ ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอให้คณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาโครงสร้างรูปแบบการจัดตั้งสถาบันมวยแห่งชาติที่เหมาะสมต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการการกีฬาฯ ได้เสนอรายงานการพิจารณาการศึกษาเรื่อง แนวทางการจัดตั้ง สถาบันมวยแห่งชาติ มายังรัฐบาล โดยเห็นว่าสถาบันแห่งนี้จะเป็นกลไกการส่งเสริมการพัฒนามวยไทยให้เป็นที่ยอมรับเป็นกีฬาระดับสากล โดยสถาบันมวยแห่งชาติจะอยู่ในการกำกับของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และเป็นหน่วยงานที่ประสานกับความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ พิจารณาจุดแข็ง จุดอ่อน หรือข้อจำกัดทางกฎเกณฑ์หรือข้อกฎหมายในปัจจุบัน เพื่อเสนอการปรับปรุงแก้ไข หลังได้รับรายงานการศึกษากรรมาธิการการกีฬาฯ แล้ว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้มีข้อสั่งการให้ กกท. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานของคณะกรรมาธิการการกีฬาฯ ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง แล้วจัดทำผลสรุปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ครม. ได้รับทราบผลการพิจารณาของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้เห็นสอดคล้องกับคณะกรรมาธิการการกีฬาฯ แล้ว และให้ดำเนินการตามที่ได้เสนอมาต่อไป

"ปัจจุบัน มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ที่เป็นที่สนใจและได้รับความนิยมในระดับโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีชาวต่างชาติจำนวนมากที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาเรียนมวยไทย นับเป็นกีฬาที่ส่งผลเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้มาก รัฐบาลจึงผลักดันผ่านกลไกต่าง ๆ อย่างจริงจังเพื่อให้มวยไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีอิทธิพลครองใจคนทั่วโลกเช่นเดียวกับกีฬาการต่อสู้ของชาติอื่น ได้รับการบรรจุในการแข่งขันกีฬาระดับเอเชี่ยนเกมส์-โอลิมปิก จากปัจจุบันที่แข่งขันในระดับซีเกมส์และการแข่งขันอาชีพในประเทศเป็นหลัก