แม้ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่หลังผ่านวิกฤตเศรษฐกิจซ้อนทับหลายระลอก แต่ บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ “RML” กลับยืนหยัดเดินหน้ากลยุทธ์ เปิดเกมอสังหาฯ ระดับอัลตร้าลักชัวรีสำหรับลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ต้องการบ้านหลังที่สองในประเทศไทย พร้อมปรับแนวคิดการพัฒนาโครงการใหม่ให้ลึกกว่าแค่ดีไซน์ โดยเน้นความยั่งยืนเป็นหลักสำคัญ
หนึ่งในโครงการที่ RML กำลังพัฒนาและได้รับความสนใจอย่างมาก คือโครงการบ้านพักอาศัยระดับอัลตร้าลักชัวรีริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ซึ่งออกแบบเป็นบ้านเดี่ยว 1 หลัง ขนาดพื้นที่ใช้สอยแต่ละหลังประมาณ 2,100 ตารางเมตร โดยราคาขายยังอยู่ในช่วงระหว่างการปรับ ซึ่งบริษัทพัฒนาในลักษณะที่จัดวางกรรมสิทธิ์บนโฉนดอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด ซึ่งเปิดให้ต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ได้ตามที่กฎหมายกำหนด
นายกรณ์ ณรงค์เดช ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การวางโครงสร้างกรรมสิทธิ์ในลักษณะนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่มองหาบ้านหลังที่สองในประเทศไทย และต้องการถือครองกรรมสิทธิ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแม้จำนวนยูนิตจะไม่มาก แต่โครงการถูกออกแบบให้สะท้อนความหรูหรา และเน้นความเป็นส่วนตัวสูง พร้อมแนวคิดเรื่องการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน โดยมุ่งตอบโจทย์ทั้งด้านคุณภาพชีวิตและความคุ้มค่าทางการลงทุนในระยะยาว
“เราไม่ได้เน้นจำนวนโครงการเยอะ แต่เน้นว่าทุกโครงการต้องสร้างคุณค่า และต้องมีความหมายต่อทั้งลูกค้าและสังคม” นายกรณ์กล่าว
หนึ่งในมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ที่นายกรณ์ยังยํ้าคือ “จุดแข็งของประเทศไทย” ในสายตาชาวต่างชาติที่มองหาบ้านหลังที่สอง โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการหลีกหนีเมืองใหญ่ที่มีค่าครองชีพสูง และแสวงหาความสะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับทุกศาสนาและเพศ
“ไม่มีต่างชาติคนไหนที่ผมเคยเจอแล้วไม่ชอบประเทศไทย ทั้งเพราะโลเคชั่นที่เดินทางง่าย ความเป็นมิตรของคนไทย และคุณภาพชีวิตที่คุ้มค่า”
โดยยังมองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปหลังโควิด โดยเฉพาะเทรนด์การทำงานแบบ Hybrid หรือ Work From Home ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้คนเลือกใช้ชีวิตในประเทศที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์มากขึ้น ซึ่งไทยก็ติดโผในอันดับต้นๆ ของตัวเลือกจากประเทศต่างๆ
RML จึงพัฒนาโครงการในทำเลที่มีศักยภาพรองรับความต้องการนี้ โดยเฉพาะย่านใจกลางกรุงเทพฯ อย่างสุขุมวิท หรือริมแม่นํ้า ที่สามารถผสมผสานธรรมชาติ ความหรูหรา และการเข้าถึงได้สะดวก
อีกหนึ่งแนวคิดที่ RML นำมาเป็นแก่นสำคัญของการพัฒนาอสังหาฯ ยุคใหม่คือ “ความยั่งยืน” ไม่ใช่เพียงแค่การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แต่เป็นการ “คิดล่วงหน้า” ถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว ซึ่งนายกรณ์มองว่า เทรนด์นี้จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดการตัดสินใจของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน
ตัวอย่างคือโครงการ One City Centre (OCC) อาคารสำนักงานให้เช่าระดับพรีเมียมที่ RML พัฒนา โดยออกแบบตามมาตรฐาน LEED Gold และ WELL Building ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับ ESG เป็นหลัก
“ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีและวัสดุที่ยั่งยืนอาจสูงในตอนแรก แต่กลายเป็นจุดขายที่ทำให้ลูกค้ากล้าจ่าย หากโครงการมีจุดยืนชัดเจนเรื่องความรับผิดชอบต่อโลก” นายกรณ์กล่าวเสริม
รวมถึงการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในโครงการ ไม่ใช่เพียงเป็น “การตอบแทนสังคม” แต่เป็นการ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” ให้กับแบรนด์ และยังเป็นที่ต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพสูง ซึ่งมีแนวโน้มมองหาสินทรัพย์ที่มีความหมาย มากกว่าแค่ความสวยงาม
ขณะเดียวกันท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นายกรณ์ยังได้ยอมรับว่า ความท้าทายของธุรกิจอสังหาฯในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจ แต่คือ “การไล่ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่หยุดนิ่ง” ซึ่ง RML เลือกจะรับมือด้วยการฟังให้มากขึ้น และคิดให้ยืดหยุ่นขึ้น
ซึ่งจากประสบการณ์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 บริษัทได้นำบทเรียนมาใช้พัฒนาโครงการให้สอดรับกับชีวิตใหม่ของผู้คน เช่น การออกแบบพื้นที่ให้มีห้องทำงานในบ้าน หรือใช้เทคโนโลยีไร้สัมผัสในอาคารสำนักงาน เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องสุขอนามัย
ซึ่งนายกรณ์ได้เผยความคิดเห็นว่า หากรัฐบาลมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติม เช่น การลดภาษีสำหรับโครงการที่ผ่านมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม จะทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นกล้าลงทุนในด้านนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐสนับสนุนการสร้างซัพพลายเชนภายในประเทศ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SMEs ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินภายในประเทศ และลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับบนยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายด้านเช่นนี้ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลก พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็ว การพัฒนาโครงการของ RML อาจไม่ใช่การขยายตัวในเชิงปริมาณ ทิศทางเหล่านี้อาจสะท้อนถึงความเปลี่ยน แปลงบางอย่างในตลาดอสังหาฯ ระดับบน ที่ไม่ได้แข่งขันกันด้วยขนาดหรือความหรูหราเพียงอย่างเดียว แต่ก็อาจเป็นหนึ่งในมาตรฐานใหม่ที่ผู้ประกอบการอสังหา ริมทรัพย์ระดับบนจะต้องเตรียมพร้อมมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,096 วันที่ 15 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2568