ปั้น 3 รถไฟฟ้าบูมปทุมธานี พลิกโฉมสู่มหานครเศรษฐกิจสร้างสรรค์

27 ส.ค. 2566 | 05:36 น.

ปูพรมระบบรางบูมปทุมธานี โซนตะวันตก คูคต ลำลูกกา รังสิต บูมสนั่นรถไฟฟ้า 2 สาย รฟท.ลุยต่อขยายถึงมธ.ศูนย์รังสิต กวาดคนเข้าเมือง อบจ. ดันเต็มสูบโมโนเรล 3 สาย เชื่อมสายสีเขียว-สายสีแดง กรมรางขยายเส้นทาง M-MAP 2 คลุมปริมณฑล

 

ปทุมธานี จังหวัดปริมณฑล ของกรุงเทพมหานคร ที่มีอัตลักษณ์สำคัญไม่แพ้ จังหวัดอื่น สะท้อนจากการวางยุทธศาสตร์จังหวัดของนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี “ผู้ว่าฯหมูป่า” ผู้ล่วงลับ ตั้งเป้าให้เป็นเมืองน่าอยู่ศูนย์กลางธุรกิจบริการฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงโดยเน้นการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม คูคลอง ถนนหนทาง เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและสะดวกต่อการสัญจรเข้ากทม.สู่ใจกลางเมือง

โดยต้องการอนุรักษ์วิถีความเป็นอยู่เป็นไปอย่างผสมผสาน ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นทั้งเมืองเกษตรกรรมขนาดใหญ่ แหล่งผลิตข้าวหอมปทุมธานี และกล้วยหอมทองของไทย ขณะเดียวกันมีโรงงานอุตสาหกรรม กว่า 3,000 โรง สร้างจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ) ให้เติบโต สนับสนุนชุมชนให้มีรายได้ จากผลผลิตเพื่อแข่งขันเวทีในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศได้ และปี 2585 มีเป้าหมาย ยกระดับปทุมธานีให้เป็นมหานครแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนโดยมีโครงข่าวรถไฟฟ้า ถนนเชื่อมการเดินทางที่สะดวกรวมถึงการวางผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับการพัฒนา

ราชพฤกษ์จุดพลุที่ดินพุ่ง

 ขณะที่ความเจริญของเมืองแผ่ขยายการลงทุนโครงข่ายถนน ระบบรางส่งผลทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น ส่วนราคาที่ดิน ในเขตอำเภอเมืองอยู่ที่ 5-7 ล้านบาทต่อไร่ ราคาประเมินกรมธนารักษ์ ไร่ละ 6-7 แสนบาท เช่นเดียวกับถนนปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว ตั้งแต่ มีการก่อสร้างถนนราชพฤกษ์ ลงมาเชื่อมเส้นทางดังกล่าวตัดผ่านมาจากบางใหญ่นนทบุรี ราคาที่ดินขยับสูง จากเดิมราคาไม่กี่แสนบาทต่อไร่ เป็นหลัก 1-2 ล้านบาท ต่อ 1 งาน หรือ100 ตารางวา ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นมา

 

 

สายสีเขียว-สีแดง บูมทำเลทอง

ปัจจุบันเมืองปทุมธานีพื้นที่เกษตรเริ่มลดลง กลายเป็นดงหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ของทุกค่ายทุกแบรนด์ มีผลทำให้ ที่ดินมีราคาจากความเจริญที่ขยายมายังโซนตะวันตกของจังหวัดปทุมธานี ได้แก่ รังสิต-องครักษ์ -คลองหลวง คูคต-ลำลูกกาบ้านจัดสรรขออนุญาตจัดสรร คราวละกว่า 10 โครงการ รวมถึงมีโครงการแนวสูงคอนโดมิเนียม

โดยฝั่งรังสิต-องค์รักษ์ เชื่อมเข้ากับถนนวิภาวดี-รังสิต ประตูตอนเหนือของกรุงเทพฯ ที่มีรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต ให้บริการ สถานีปลายทาง รังสิต ช่วยกวาดต้อนคนเดินทางมาจากต่างจังหวัดและคนอยู่อาศัยย่านดังกล่าวเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพ และรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงทุนส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เตรียมเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี  (ครม.) ใหม่ โดยมีแผนต่อขยายไปยัง มหาวิทยาลัย ศูนย์รังสิต เมืองมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ เกิดขึ้นจำนวนมาก คาดว่าจะสามารถปิดให้บริการได้ ภายในปี 2568 ซึ่งจะคู่ขนานกับ คูคต ลำลูกกา เชื่อมเข้ากทม.ตามเส้นทางของถนนพหลโยธินซึ่งมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวปลายทางสถานีคูคตที่มีความเจริญแผ่ขยายต่อมาจากกทม. และในอนาคตจะมีแผนขยายเส้นทางสายสีเขียวออกไปตามถนนลำลูกกา หากย่านดังกล่าวมีชุมชนขยายตัวมากขึ้นและมีความต้องการใช้ระบบรางบริเวณดังกล่าว

ปัจจุบันคูคตสถานีปลายทางกลายเป็นเมืองที่อยู่อาศัยแนวสูงที่มีบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ เข้าพื้นที่และปิดการขายไปเกือบทั้งหมดแล้ว และบริเวณลำลูกกาคลอง2 มีโครงการคอนโด มิเนียมค่ายเสนา เข้าไปปักหมุด

 

ดัน3โมโนเรล เชื่อมกรุง

จากปัญหาการขยายตัวของเมืองมายัง ปทุมธานีจากแรงผลักของรถไฟฟ้าประกอบกับปทุมธานี เผชิญกัววิกฤตจราจรกว่า140,000-160,000 คันต่อวัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมฯ) โดยพลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกฯอบจ.ปทุมธานี ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน จังหวัดปทุมธานี (กกร.ปทุมธานี) เร่งผลักดันโครงการรถไฟรางเบาและโมโนเรล เหมือน รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ใช้วิธีประมูล รูปแบบ PPP (เอกชนร่วมลงทุนรัฐ )ระบบ ฟีดเดอร์(Feeder) เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีคูคตและ สายสีแดงที่สถานีรังสิตและ ส่วนต่อขยายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ป้อนผู้โยสารจากชุมชนต่างๆเข้าระบบรถไฟฟ้าสายหลักดังกล่าว

เส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา 3 เส้นทางประกอบด้วย สายที่ 1 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีรังสิตตลาดรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ครังสิตระยะทาง 2 กิโลเมตร สายที่ 2 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีคูคตถนนเสมาฟ้าคราม-ถนนรังสิต-นครนายก-ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ระยะทาง 9.3 กิโลเมตร สายที่ 3 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ตลาดไท-วัดธรรมกาย ระยะทาง 6 กิโลเมตร

 นายชวลิต ครองสิน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การลงทุนรถไฟฟ้า 3 เส้นทางจะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีจากแนวราบสู่แนวสูงอีกทั้งยังช่วยให้ราคาที่ดินขยับสูงจากปัจจุบันราคาไร่ละ 10-20 ล้านบาท ทำเลรังสิต-นครนายก ขยับสูงเป็น 30 ล้านบาทต่อไร่ หากรถไฟฟ้าก่อสร้างเปิดให้บริการโดยเฉพาะตั้งแต่ทำเลรังสิตคลอง 3-คลอง6ที่มีการพัฒนาเกิดขึ้นมากและการพัฒนาขยายออกไปถึงคลอง 15 ขณะการลงทุนประเมินว่าจะใช้งบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณของท้องถิ่นและสามารถพัฒนาได้ภายในไม่เกิน 2-5 ปี นับจากนี้ สำหรับรูปแบบคล้ายกับสายสีทองหรือไม่สายสีเหลืองในกทม.

“ปทุมธานีได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติจราจรเกิดความสูญเปล่าทางพลังงานหากมีรถไฟฟ้าพาดผ่านในจังหวัดนอกจากสร้างความเจริญให้กับเมืองแล้วยังสามารถรองรับคนจำนวนมากเดินทางเชื่อมโยงรถไฟฟ้าสายสีแดงสายสีเขียววิ่งเข้าสู่ใจกลางกทม.ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่ลงทุนระบบรางให้เกิดความคุ้มค่า”

 รายงานข่าวจากอบจ.ปทุมธานี ระบุว่าหากเฟสแรก ดำเนินการตามผลศึกษาข้างต้น และเฟส 2 ขยายเส้นทางรังสิตนครนายก ออกไปถึงคลอง 7 และสวนสัตว์เขาดินแห่งใหม่ และสายที่ 3 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลาดไท-วัดธรรมกาย ระยะทาง 6 กิโลเมตร ขยายเส้นทางต่อไปถึงอุทยานวิทยาศาสตร์ คลอง 5 จะช่วยป้อนปริมาณผู้โดยสารผ่านรถไฟฟ้าโมโนเรล เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า 2 สายหลักได้อย่างคุ้มค่า

คูคต-ลำลูกกาคลอง2 ราคาที่พุ่ง

 นางสุภารมย์ โลทะกะ นายกเทศมนตรีเมืองคูคต อำเภอลำลูกกา ปทุมธานี ระบุว่าคูคต มีความเจริญขึ้นมาก จากการมีรถไฟฟ้าเชื่อมผ่านที่ดิน ก่อนหน้านี้ ยังไม่มีรถไฟฟ้ามา ถนนคลอง2 ราคา 3แสนบาทต่อไร่ แต่ปัจจุบัน ขายกันไร่ละ 20 ล้านบาท บางแปลง 30ล้านบาทต่อไร่ปัจจุบัน ถนนเสมาฟ้าคราม มีปัญหาจราจรติดขัดสูงในพื้นที่ต้องการขยายเขตทางจาก2ช่องจราจรเป็น 4ช่องจราจร

 “คูคตติดกับกทม.ไม่มีพื้นที่ขยายเพราะชุมชนหนาแน่น ถนนลำลูกกาคลอง 2 เทศบาลต้องการขยายเขตทางเพื่อลดความแออัดแต่ติดปัญหาต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท”

สอดคล้องกับ นายณรงค์ อู่ทรัพย์ รองนายกเทศมนตรีเมืองคูคต มองว่า ช่วงหลัง ทำเลคูคตเงียบลง มีเพียง สถานีคูคต สายสีเขียวที่บูมมาก ราคาที่ดินติดถนนลำลูกกาคลอง2 หน้าโลตัส ราคา 4-5 หมื่นบาทต่อตารางวา ในซอย 3.5 หมื่นบาทต่อตารางวา ติดสถานีคูคต ไร่ละ 20 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบ้านเก่า และไม่มีใครยอมขาย ทำเล ลำลูกกาคลอง2 ค่ายเสนา เข้าไปพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม 3-4 แท่ง

ทำเลใกล้กัน มีติดประกาศขาย 20 ไร่ โดยขายไร่ละ 20 ล้านบาท ที่ผ่านมา เทศบาลฯได้ประชุมกับทางกกร. และอบจ.ปทุมธานี ได้ข้อสรุปเร่งลงทุนรถไฟฟ้ารางเบาหรือโมโนเรล 3 สาย แก้ปัญหาจราจรเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนผังเมืองรวมคูคต ขณะนี้หมดอายุลงและอยู่ระหว่างยกร่างเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณที่มีการเปลี่ยน แปลงโดยเฉพาะรอบสถานีคูคต สายสีเขียว เป็นพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม)จากเดิมเป็นพื้นที่สีส้ม (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่ปานกลาง) เพราะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น

ทช.-กรมราง ปูพรม โครงข่าย

รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันกรมฯมีแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างถนนสาย ปท.3004 แยก ทล.305 - บ้านลำลูกกาจังหวัดปทุมธานี วงเงิน 561 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2567

รูปแบบการก่อสร้างของโครงการฯ เป็นการขยายถนนเดิม จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร มีผิวจราจรลาดยาง AC ความหนา 10 ซม. (5 ซม. 2 ชั้น) ผิวจราจรกว้าง 3.50 เมตร เกาะกลางแบบยกกว้าง 4.50 เมตร ตลอดสายทาง มีทางเท้ากว้างข้างละ 3.25 เมตร ตลอดสายทาง โดยเป็นก่อสร้างระบบระบายน้ำใต้ทางเท้าตลอดทั้ง 2 ข้างทาง และมีการก่อสร้างสะพานข้ามคลองรังสิตประยูรศักดิ์ 1 แห่งและสะพานลอยคนเดิมข้าม 4 แห่

แนวเส้นทางของถนนสาย ปท.3004 แยก ทล.305-บ.ลําลูกกา อ.ธัญบุรี, ลําลูกกา จ.ปทุมธานี เชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 กับทางหลวงหลวงหมายเลข 3312 ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจร และเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ พร้อมรองรับการขยายตัวของชุมชนในอนาคตอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าให้โครงข่ายทางหลวงชนบทมีความต่อเนื่องและสมบูรณ์

 รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง  (ขร.) กล่าวว่า ปัจจุบันกรมฯได้ดำเนินการโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2” หรือ M-MAP 2 เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์แนวเส้นทางและความต้องการในการเดินทาง ซึ่งนำมาการพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฉบับใหม่ หรือ M-MAP 2 โดยได้ดำเนินการศึกษาแนวเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้าจากการทบทวนแผน M-MAP เดิม และแผน M-MAP 2 Blueprint ซึ่งทาง JICA เคยศึกษาไว้ ร่วมกับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและประชาชนในเขตจังหวัดปริมณฑลที่รับฟังความคิดเห็นและที่ปรึกษานำเสนอเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนา

 แนวเส้นทางใหม่ระบบรางที่มีความเป็นไปได้ในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 5 เส้นทาง ดังนี้ 1. N3 รถไฟฟ้าสายรังสิต- ธัญบุรี-คลอง6- ธรรมศาสตร์ 2.N4 รถไฟฟ้าสายรังสิต- ปทุมธานี 3.N5 รถไฟฟ้าสายคลอง 3 - คูคต 4.N13 รถไฟฟ้าสายคลอง 6-องค์รักษ์ 5.E3 รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย เมืองทอง- ปทุมธานี

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานอื่นๆและประชาชนจังหวัดปทุมธานีในแผน M-MAP 2 พบว่ามีหลายแนวเส้นทางที่มีความน่าสนใจให้ดำเนินการ เช่นแนวเส้นทางที่ 2-3 ลำลูกกา- วงแหวนรอบนอกตะวันออก (MMAP1), แนวเส้นทางที่ 2-4 ลำลูกกา-คลองเตย, แนวเส้นทางที่ 3-2 เมืองทอง- รังสิต, เส้นทางคูคต-รังสิต,เส้นทางรังสิต-  นวนคร, เส้นทางรังสิต- องค์รักษ์ ฯลฯ

 นอกจากนี้ยังมีเส้นทางตามแผน MMAP1 ที่ยังไม่ดำเนินการ จำนวน 4 เส้นทาง ดังนี้ 1.รถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต - ธรรมศาสตร์, 2.รถไฟสายสีแดง ช่วงธรรมศาสตร์- นวนคร 3. รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงลำลูกกา -ท่าพระ 4.รถไฟฟ้าสายสีเขียว (สุขุมวิท) ช่วงคูคต -  วงแหวนรอบนอก

 

โครงข่ายรถไฟฟ้า โครงข่ายรถไฟฟ้า -ถนน ลงปทุมธานี