ศรีสุวรรณ ขู่ฟ้อง ชัชชาติ - จนท.กทม. ปม “คอนโดแอชตัน อโศก”

28 ก.ค. 2566 | 06:59 น.

ศรีสุวรรณ เตรียมยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ให้เอาผิดกับจนท.กทม. ปมออกใบอนุญาตก่อสร้าง “คอนโดแอชตัน อโศก” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขู่หากเพิกเฉย เตรียมร้องป.ป.ช.ให้จัดการผู้ว่าฯกทม. กับพวก ด้วย

จากคดี “คอนโดแอชตัน อโศก” ที่ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ก.ค.66 ที่ผ่านมา โดยยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด

ศรีสุวรรณ จรรยา ขู่ฟ้องผู้ว่าฯ ชัชชาติ และจนท.กทม. ปม คอนโดแอชตันอโศก

วันนี้(28 ก.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า กรณี “คอนโดแอชตัน อโศก” สมาคมฯ จะนำคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นที่สุดและเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายแล้วไปยื่นร้องเรียนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันที่ 4 สิงหาคม นี้ เวลา 10.00น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เพื่อให้ดำเนินการสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเอาผิดทางวินัย อาญา และทางแพ่งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กทม.ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งทั้งหมด ตามมาตรา 39 ทวิ รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวต่อไป

 

ทั้งนี้ หากผู้ว่าฯยังชักช้าหรือเพิกเฉยสมาคมฯก็จะไปร้องเรียนเอาผิดผู้ว่าฯ กทม.กับพวกต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป 

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า  กรณี “คอนโดแอชตัน อโศก” ผู้ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบโดยตรงคือเจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กทม.ซึ่งมีหลายหน่วยทั้งในสำนักงานเขตวัฒนา กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. สำนักการจราจรและขนส่ง ประกอบด้วย ผู้รับแจ้งตามมาตรา 39 ทวิทั้ง 3-4 ใบ ผู้อนุญาตให้เชื่อมทางสาธารณะ ผู้ให้ใบรับรองเปิดใช้อาคาร คณะกรรมการพิจารณาแบบของสำนักควบคุมอาคาร

 

โดย กทม.ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเอาผิดทางวินัย อาญา และทางแพ่ง ตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อไป   

ศรีสุวรรณ จรรยา ขู่ฟ้อง ผู้ว่าชัชชาติ และ จนท.กทม. ปม คอนโดแอชตันอโศก

 

สำหรับคดี “คอนโดแอชตัน อโศก” สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวชุมชนสุขุมวิท 19 แยก 2 รวม 16 คนได้ยื่นฟ้อง ผอ.เขตวัฒนากับพวกรวม 5 คนตั้งแต่ปี 2559 โดยมีประเด็นสำคัญคือพื้นที่คอนโดพิพาทไม่มีทางเข้าออกกว้างอย่างน้อย 12 เมตร ติดถนนสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด

 

ขณะที่ทางเข้าออกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ดินที่ รฟม.ได้มาจากการเวนคืนเพื่อทำขนส่งมวลชนสาธารณะ จึงไม่อาจนํามาให้เอกชนเช่าใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ของการเวนคืนได้ หน่วยงานของรัฐจึงไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย