พลิกโฉม "วังทองหลาง" ปั้นเส้นทางจักรยาน เชื่อมแหล่งที่อยู่อาศัย -รถไฟฟ้า  

16 ก.ค. 2566 | 03:21 น.

ชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. พลิกโฉม เขต วังทองหลาง ปูพรม เส้นทางจักรยาน  เชื่อมแหล่งอยู่อาศัย -รถไฟฟ้าหลากสี 4 สาย สายสีเหลือง -ชมพู -ส้ม  แดง

 

 

ผู้ว่าฯ สัญจร เขตวังทองหลาง เร่งพัฒนาเส้นทางจักรยานเชื่อมแหล่งที่อยู่อาศัยและรถไฟฟ้าหลากสี พร้อมติดตามปัญหาในพื้นที่

 

การมาของรถไฟฟ้าสายใหม่ในหลายเส้นทาง เชื่อมโยงโครงข่ายในเขตกรุงเทพมหานคร นอกจากสร้างความเจริญให้กับเมืองแล้ว ยังอำนวยความสะดวกในการขนคนจำนวนมากจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้อย่างปลอดภัย ลดปัญหามลพิษ PM 2.5  และที่น่าจับตานั่นคือการพัฒนาเส้นทางจักรยานจากชุมชน เชื่อมต่อรถไฟฟ้า อีกหนึ่งทางเลือกที่กรุงเทพมหานคร วางแผนพัฒนาเส้นทางอำนวยความสะดวกประชาชน  โดยเฉพาะเขตวังทองหลวง ที่จะถูกปลักให้มีชีวิตชีวามากขึ้น  

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เขตวังทองหลางมีพื้นที่ประมาณ 18.8 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 1 แสนคน เป็นเมืองที่ไม่หนาแน่นมาก แต่เป็นรอยต่อระหว่างเมืองชั้นในกับเมืองชั้นนอก มีทางด่วนผ่านตรงกลาง ซึ่งเป็นเหมือนไฮไลต์ของเขต

สำหรับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ ในจุดแรกจะพัฒนาถนนเลียบด่วนให้เป็นเส้นทางจักรยาน เพราะว่าเส้นนี้ตัดรถไฟฟ้า 4 สาย ทั้งสายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม และสายสีแดง หากทำเป็นเส้นทางจักรยานให้มีคุณภาพและสามารถเชื่อมผ่านถนนเส้นต่าง ๆ เช่น ถนนเกษตรนวมินทร์ ลาดพร้าว ได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน

โดยพื้นที่แรกบริเวณพื้นที่ใต้ทางด่วน ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 40 ไร่ โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือกับกทม.ในการนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาเป็นสวน เป็นลานกีฬา เป็นศูนย์กีฬาสำหรับประชาชน ทั้งนี้ ได้กำชับให้ดูเรื่องทางเข้า-ออกให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น

รวมทั้งทำเส้นทางจักรยาน จุดจอดจักรยาน ซึ่งต่อไปจะเชื่อมต่อกับแหล่งที่อยู่อาศัย อาทิ นาคนิวาส โยธินพัฒนา เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางจักรยานนี้ไปยังสวนหรือเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า เรื่องนี้จึงเป็นนโยบายที่ต้องเร่งพัฒนาของสำนักงานเขตวังทองหลาง

นายชัชชาติ อธิบายว่า  ปัญหาหนึ่งที่กทม.พบในพื้นที่เขตวังทองหลาง คือเรื่องทางเท้า ซึ่งอาจจะมีทางเท้าและหาบเร่-แผงลอยบางจุดที่ยังมีความไม่เรียบร้อยอยู่ เช่น แถวตลาดสะพาน 2 ลาดพร้าว 101 เป็นต้น จึงได้สั่งการผอ.เขต เร่งรัดแก้ปัญหาดังกล่าว สำหรับที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงทางเท้าและหาบเร่-แผงลอยไปมากและทำได้ค่อนข้างดี เหลือเพียงบางจุดที่ยังเป็นจุดที่เปราะบางอยู่ โดยหลักการคือการให้สิทธิ์คนเดินเท้าเป็นหลัก หากเป็นไปได้ให้หาพื้นที่ของเอกชนเพื่อนำหาบเร่-แผงลอยเข้าไปอยู่ เป็นการแบ่งปันพื้นที่ให้กัน เพื่อพัฒนาเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น

ปัญหาต่อมาคือการที่ไม่มีศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ ต้องไปใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข 15 ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตลาดพร้าว หรือใช้บริการศูนย์แพทย์พัฒนา จึงมอบนโยบายให้ไปหาพื้นที่และตั้งงบประมาณในการจัดสร้างศูนย์บริการสาธารณสุข รวมทั้งสถานีดับเพลิงและกู้ภัยในพื้นที่เขตด้วย เนื่องจากปัจจุบันไม่มีสถานีดับเพลิงในพื้นที่เขต ยังต้องอาศัยสถานีดับเพลิงในพื้นที่ข้างเคียงอยู่

ด้านปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม เขตวังทองหลาง มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมอยู่ประมาณ 8-9 จุด ซึ่งเราก็ได้มีงบประมาณลงมาในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ในปีนี้ได้มีงบประมาณมายังเขต รวม 2 ปีอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อให้เขตดำเนินการตามนโยบายเส้นเลือดฝอย ปรับปรุงบ่อพักน้ำ ถนนหนทางต่าง ๆ เชื่อว่าในช่วง 2 ปีจะเห็นการพัฒนาเรื่องน้ำท่วมและการเดินทางของเขตวังทองหลางอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ในวันนี้ยังมีการตามการบ้านซึ่งเราได้มอบหมายให้ทุกเขตส่งเป้าหมายในปีที่ 2 ประมาณ 20 เรื่อง ได้แก่ พัฒนาถนนสวย ปลูกต้นไม้ เพิ่มสวน 15 นาที ปรับปรุงทางเท้า ติดตั้ง/ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่าง ติดตั้ง/ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่างริมคลอง ยกเลิก/ยุบรวมพื้นที่หาบเร่-แผงลอยนอกจุดผ่อนผัน จัดหาพื้นที่เอกชนหรือ พัฒนา Hawker center แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม แก้ไขจุดจราจรจุดฝืด แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุและอาชญากรรม ปรับปรุงและพัฒนาลานกีฬา ปรับปรุงและพัฒนา บ้านหนังสือ ปรับปรุงและพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ปรับปรุงกายภาพโรงเรียน เป็นต้น