ลูกบ้านเฮ! ศาลปกครองกลางสั่งไม่รื้อคอนโดหรู แอชตัน อโศก แต่ให้เร่งแก้ไข

24 พ.ย. 2565 | 11:19 น.

ศาลปกครองกลางชี้ “ผู้ว่าฯ กทม.” ละเลยหน้าที่ ปล่อยอนุญาตสร้างคอนโดหรูแอชตัน อโศก ไม่ชอบด้วยก.ม. แต่เห็นแก่ความเดือดร้อนผู้ซื้อ สั่ง “กทม.–บริษัท-รฟม.” เร่งหาทางออกตามพรบ.ควบคุมอาคาร ใน 180 วัน หากทำไม่ได้ต้องสั่งรื้ออาคารที่สูงเกินก.ม.กำหนด

วันนี้ (24 พ.ย.65) ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาคดีที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมป์ ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม. และผู้อำนวยการเขตวัฒนา กรณีออกใบอนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการอาคารคอนโดมิเนียม แอชตัน - อโศก ถ.สุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) เขตวัฒนา กทม. โดยไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522   


กรณีที่กำหนดให้อาคารก่อสร้างที่มีพื้นที่ใช้สอย 30,000 ตารางเมตรขึ้นไปต้องติดถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร และการก่อสร้างโครงการดังกล่าวยังทำให้เรือนคำเที่ยง ซึ่งเป็น เรือนไทยอนุรักษ์ ของสยามสมาคมฯ ได้รับความเสียหาย ว่า 

 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะที่ได้มีหนังสือร้องเรียนว่า โครงการก่อสร้างอาคารแอชตัน - อโศก ไม่เป็นไปตามออกตามความในพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในการก่อสร้างอาคารสูง หรือ อาคารขนาดใหญ่พิเศษที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับระยะระหว่างอาคารกับถนน ทางเท้า หรือ ที่สาธารณะ  


รวมทั้ง มีหนังสือร้องเรียนถึงปัญหาความเดือดร้อนจากการก่อสร้างโครงการที่ทำให้ตัวอาคารที่ทำการสยามสมาคมฯ  รั้วคอนกรีต รวมทั้งเรือนคำเที่ยง ได้รับความเสียหาย ถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.2559 


แต่ทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม. และผู้อำนวยการเขตวัฒนา มิได้ตรวจสอบตามข้อร้องเรียนของสยามสมาคม ฯ จนกระทั่ง  บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ก่อสร้างโครงการอาคารแอชตัน – อโศก จนแล้วเสร็จ

 

จึงเป็นการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม. และผู้อำนวยการเขตวัฒนา ละเลยต่อหน้าที่ตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้ต้องปฏิบัติในการออกคำสั่งให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ต้องระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคารโครงการดังกล่าว 


แต่เนื่องจากปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้มีการโอนขายให้แก่ประชาชนไปแล้วจำนวน 668 ห้อง จากการก่อสร้างห้องพักอาศัยจำนวนทั้งสิ้น 783 ห้อง หากศาลจะมีคำบังคับดังกล่าว โดยไม่ได้ให้โอกาสแก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม. และผู้อำนวยการเขตวัฒนา หาวิธีการเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนและเสียหาย ให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน-อโศก เจ้าของร่วม ที่ได้ซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าว เป็นบุคคลภายนอกที่ต้องได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายควบคุมอาคารของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม  


จึงสมควรที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ผู้อำนวยการเขตวัฒนา บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จะได้ไปร่วมปรึกษาหาวิธีการแก้ไขให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโครงการดังกล่าว มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร โดยการจัดหาที่ดินด้วยวิธีใด ๆ อันชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทำให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารพิพาท เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ได้กำหนดไว้ 


จึงพิพากษาให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหรือ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และ มาตรา 42 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี ดำเนินการต่อ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการอาคารคอนโดมิเนียม แอชตัน – อโศก ถ.สุขุมวิท21 (อโศกมนตรี) เขตวัฒนา กทม. สำหรับกรณีที่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 42 ในการออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน – อโศก ดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการเฉพาะแต่ส่วนของอาคารที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  


เฉพาะในส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างของทางจำเป็น 6.40เมตร ให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ผู้อำนวยการเขตวัฒนา บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ไม่สามารถแก้ไข หรือ เปลี่ยนแปลงเพื่อให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารพิพาทกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 


ด้านนายพิสุทธิ์ รักวงษ์ ทนายจากนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน กล่าวว่า  พอใจกับคำพิพากษาบางส่วน เพราะลูกบ้านจำนวนกว่า 600 ห้อง ได้เข้าไปอาศัยในคอนโดแล้ว ถ้าไม่เปิดโอกาสให้หน่วยงานราชการร่วมกับผู้พัฒนาโครงการ ตลอดจนการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟม.)  ไปจัดการ ก็จะไม่เกิดความเป็นธรรมกับลูกบ้านทั้งหมด ซึ่งจะเกิดความเดือดร้อนเสียหายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 


ทั้งนี้ ตั้งแต่ผลการพิพากษาในคดีของสมาคมลดโลกร้อน ทำให้ลูกบ้านประสบปัญหาในเรื่องของการทำรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงิน และทำรีเทนชั่นกับธนาคาร ซึ่งจะต้องรับภาระการจ่ายดอกเบี้ยที่แพง 


อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าศาลควรจำหน่ายคดีนี้ไปออกจากสารระบบ และให้ไปพิจารณาในประเด็นหลัก  ทั้งนี้ตนจะได้นำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับเจ้าของร่วม ว่าจะยื่นอุทธรณ์ตามระยะเวลากรอบกฎหมายกำหนดหรือไม่ อันนี้ยอมรับว่าคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้ ส่งผลดีต่อต่อลูกบ้าน เพราะไม่ต้องรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างไปแล้ว 


เมื่อถามว่าหากในระหว่างนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย ได้มีการหารือในทางคู่ขนานเพื่อหาทางออก ระหว่างที่รอการยื่นอุทธรณ์จะดีหรือไม่ นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า ถ้ามีการเร่งรัดดำเนินการก็จะเป็นการดี เพราะลูกบ้านจะได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาไปในคราวเดียวกัน เพราะหากรอให้คำพิพากษาถึงที่สิ้นสุดจะกินระยะเวลายาวนานหลายปี 


ดังนั้น การแก้ไขเร็วที่สุด ก็อาจจะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะจะเป็นปัญหาที่กระทบต่อโครงการที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมด ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร   


ด้านตัวแทนจาก บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เปิดเผยว่า คดีนี้ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอีกทีหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ลูกบ้านยังดำเนินธุรกรรมได้ตามปกติ เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองกลางไม่ได้มีผลผูกพันใช้บังคับ และยังไม่ถึงที่สุด จึงถือว่าใบอนุญาตเป็นไปตามกฏหมายอยู่ 
ส่วนที่ศาลให้หารือกันเพื่อหาทางออกนั้น คงต้องรอทางทีมงานก่อนว่าจะตัดสินอย่างไรและต้องไปศึกษาคำพิพากษาด้วยก่อน