‘ซีพี-บีทีเอส’ เข้าพื้นที่ ลุยไฮสปีด-อู่ตะเภา

13 ส.ค. 2564 | 05:10 น.

ซีพี-บีทีเอส เข้าพื้นที่เปิดหน้าดิน พร้อม ลุย“ไฮสปีด-อู่ตะเภา” 5 แสนล้าน ลุยเมกะโปรเจ็กต์ยักษ์-อีอีซีขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ คาดเปิดให้บริการพร้อมกันปี 2568 หลังโควิดคลี่คลาย สร้างความมั่นใจดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าพื้นที่

‘แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ได้เข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงอีอีซี มูลค่า 2.24 แสนล้านบาทแล้ว โดยว่าจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือITD ผู้รับเหมางานโยธาเข้าพื้นที่ เพื่อสำรวจพื้นที่และ เจาะทดสอบสภาพดิน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนลงมือก่อสร้าง ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือสัญญาเริ่มงานให้เอกชนคู่สัญญา (Notice to Proceed : NTP) ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564

                “การส่งมอบพื้นที่ 100% จำนวน 5,521 ไร่ บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิไปจนถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง170 กิโลเมตร ที่ดินบ้างแปลงยังมีปัญหาติดต่อเจ้าของไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนพื้นที่ บ้างแปลงติดปัญหาการตั้งผู้จัดการมรดก ฯลฯ แต่หากรัฐบาลต้องการให้รฟท.ส่งมอบตามแผนเดิมเดือนกันยายน ก็สามารถดำเนินการได้ เพราะการเจรจาซื้อที่ดินคืบหน้าเกือบ 90%”

                สำหรับรายละเอียดการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำสัญญาซื้อขายแล้ว 634 สัญญา มูลค่า 3,599 ล้านบาท จากจำนวน 737 สัญญา มูลค่า 4,121 ล้านบาท เช่นเดียวกับการโยกย้ายผู้บุกรุก ที่กีดขวางการก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 100 % และงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค หน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคได้รื้อย้ายช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาแล้วเสร็จ 257 จุด อยู่ระหว่างการรื้อย้าย 396 จุด คาดว่าแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งมือให้เสร็จทันภายในเดือนกันยายนนี้

                เช่นเดียวกับ โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินมูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ที่บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เข้าพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งเข้าสำรวจพื้นที่โครงการพร้อมก่อสร้างรั้วมาตรการเขตการบิน ความยาว 4.9 กิโลเมตร แล้วเสร็จ 95%

รวมถึงงานออกแบบอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ ซึ่งทาง UTA ได้ว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก บริษัท สกิดมอร์, โอวิงส์ และเมอร์ริล แอลแอลพี หรือ SOM บริษัทด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ก่อตั้งในชิคาโก หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความชำนาญในด้านการออกแบบอาคารพาณิชย์ ตึกสูง กับแนวทางสถาปัตยกรรมนานาชาติร่วมสมัย หรือตึกระฟ้ากล่องกระจก เข้ามาเรียกเสียงฮือฮาให้กับสนามบินแห่งนี้

                ขณะที่กองทัพเรือ (ทร.) หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ได้ออกแบบทางวิ่งที่ 2 แล้วเสร็จ ประกอบด้วย ทางวิ่ง 3,505 เมตร ทางขับที่เกี่ยวข้อง 6 เส้นทาง อุโมงค์ลอดใต้ทางวิ่งงานระบบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ส่วนงานก่อสร้างระบบไฟฟ้า น้ำเย็น งานประปาและระบบน้ำเสียได้ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในฐานะคู่สัญญาเรียบร้อยแล้ว

                นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ระบุว่า บริษัทมีความพร้อมทั้งบุคลากรและเม็ดเงินลงทุน พัฒนาโครงการ สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินเชื่อมโยงกับ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จพร้อมกันปี 2568 โดยจะพึ่งพาการขนส่งผู้โดยสารระหว่างกัน ทั้งสนามบินและไฮสปีดขณะนี้บริษัท และบริษัทผู้รับเหมาได้เข้าพื้นที่ ทดสอบสภาพดิน ปรับพื้นที่บริเวณก่อสร้าง ก่อนลงมือก่อสร้างแล้ว แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอหนังสือสัญญาเริ่มงาน

 ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ อีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสาร ในอนาคต ได้ 200 ล้านคนต่อปี ซึ่งบีทีเอสและบริษัทรถไฟความเร็วสูงฯ จะต้องหารือร่วมกันเกี่ยวกับการเชื่อมโยงสถานีรับส่งผู้โดยสายภายใน พื้นที่ของสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นเนื้อเดียวกัน

แหล่งข่าววงการผู้รับเหมา มองว่า การขยับ2โครงการขนาดใหญ่ ไฮสปีด 3 สนามบินและสนามบินอู่ตะเภา ต่างเป็นทั้งหัวใจและเส้นเลือดใหญ่ ของอีอีซี เมื่อสามารถก่อสร้าง ได้ตามแผน จะสร้างความมั่นใจปลุกพื้นที่ที่ซบเซาจากสถานการณ์โควิให้พลิกฟื้นกลับมาได้ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ การเคลื่อนตัวของแรงงานขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ การใช้วัสดุก่อสร้าง การจ้างงานผู้รับเหมาช่วง เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศในภาพรวมต่อไป