งานหิน  5 ข้อเสนอ โด๊ปอสังหาฯ 

29 ธ.ค. 2563 | 06:20 น.

งานหิน  5 ข้อเสนอ โด๊ปอสังหาฯ 3 สมาคม ประกอบด้วยสมาคมอาคารชุดไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่เสนอต่อ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เพราะเมื่อสำรวจไส้ในแล้วพบว่ารัฐบาล ไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ทุกข้อ 

 

 

    กลายเป็นงานหินสำหรับ มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5 ข้อ ของ 3 สมาคม ประกอบด้วยสมาคมอาคารชุดไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่เสนอต่อ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เพราะเมื่อสำรวจไส้ในแล้วพบว่ารัฐบาล ไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ทุกข้อเอกชนต้องเผื่อใจโดยเฉพาะข้อ 2 ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการยกเลิกการบังคับใช้มาตรการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คุมเข้มสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ที่เรียกว่า LTV เป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนได้มากขึ้น 
    

 

ประเด็นนี้อาจถูกตัดออกไป และดูเหมือน สถานบันการเงินจะระมัดระวังมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอก 2  สอดคล้องกับ ข้อ 4. ที่เอกชนต้องการระบายสต็อก คอนโดมิเนียมขายให้ต่างชาติ โดยเสนอขอให้ผู้ซื้อห้องชุดชาวต่างชาติได้รับวีซ่า โดยมีระยะเวลาตามมูลค่าของห้องชุดมูลค่า 3-5 ล้านต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 5 ปี มูลค่า 5-10 ล้านต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 10 ปี มูลค่าเกิน 10 ล้านต่อห้อง ได้รับสิทธิมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เหมือนกับ ประเทศอื่นที่เปิดเงื่อนไขในลักษณะดังกล่าว  ไม่ เฉพาะเจาะจงเพียง  คอนโดมิเนียม ราคา ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทที่เปิดให้ต่างชาติ ซื้อผ่านบัตรอีลิทการ์ด 

งานหิน  5 ข้อเสนอ โด๊ปอสังหาฯ 

 

      อย่างไรก็ตาม แม้ จำนวนหน่วยของคอนโดมิเนียมกลุ่มกลาง-ล่างระดับ 3-5 ล้านบาทจะเหลือขายอยู่ในตลาดมากถึง 7 หมื่นหน่วย ที่ รัฐบาลควรออกมาตรการช่วยเหลือแต่ในทางปฏิบัติ มองว่าเป็นแผนยุทธศาสตร์ของเอกชนเองที่ดีมานด์กับซัพพลายไม่สมดุลกัน อีกทั้งหากเปิดให้คนต่างชาติเข้าถือครองและเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรไทยได้อย่างเสรีด้วยการให้วีซ่าเป็นเดิมพันกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยมองว่ามีผลด้านความมั่นคง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องจับตาดูสถานการณ์อาจผ่อนผันในบางกรณีก็เป็นได้ 

 

ส่วน อีก 3 ข้อที่อาจจะเป็นไปได้แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะผ่อนผันทั้งหมด ได้แก่ ข้อ 1 ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ลงถึงอัตราตํ่าสุดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในทุกประเภท ทุกระดับราคา ทั้งที่อยู่อาศัยใหม่และบ้านมือสองจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้ว รัฐบาลควรช่วยเหลือ ข้อนี้ในทุกระดับราคา เพราะลำพังคนรายได้น้อย ไม่มีกำลังซื้อขณะกลุ่มระดับบน 5 ล้านบาทขึ้นไป ยังพอมีตอบสนองตลาดอยู่บ้าง

 

หาก ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองให้กับคนกลุ่มนี้นี้น่าจะช่วยระบายสต็อกได้บ้างแต่ทั้งนี้ รายได้ของรัฐอาจหายไปเช่นเดียวกับข้อ 3 ที่เอกชนเรียกร้องให้มีการประกาศขยายการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 2 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อช่วยบรรเทาภาระประชาชน และผู้ประกอบการทั่วประเทศ เรื่องนี้มีความเป็นไปได้หากสถานการณ์การระบาดโควิด-19และเศรษฐกิจยังซึมยาวขณะรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาจหายไปซึ่งรัฐบาลต่างสนับสนุนงบประคองเบื้องต้นให้อยู่แล้ว
  

 

 

 สำหรับ ข้อ 5 ให้นำโครงการบ้านดีมีดาวน์มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยที่ภาครัฐสนับสนุนเงินลดภาระการผ่อนดาวน์ในรูปแบบของ Cash Back ให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลับมาใช้อีกครั้ง และขอเพิ่มวงเงินจากเดิม 50,000 บาทต่อราย เป็น 100,000 บาท ต่อราย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้มากขึ้น เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เรื่องนี้ อาจเป็นไปได้ แต่หากรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมที่ออกอาการโคม่า ประเด็นการเพิ่มวงเงิน จาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาทอาจถูกปัดออกไปได้ 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,639 วันที่ 27 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563