ลุ้นรัฐเคาะ 4ท่าเรือบก ธุรกิจรอชิง

30 มิ.ย. 2562 | 08:30 น.

สนข.ปักหมุดท่าเรือบก 4 จังหวัด เปิดเอกชนร่วมลงทุน 2.74 หมื่นล้านบาท ตั้งแท่นรอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ พร้อมเดินหน้าต่อทันที โคราชคึกนักธุรกิจท้องถิ่น-ส่วนกลางรุมชิงท่าเรือบก อ.สูงเนิน

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้รายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) แล้ว

เพื่อเป็นกลไกตอบสนองการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทยและเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.)แล้ว รอเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาอนุมัติ โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้คัดเลือกพื้นที่เหมาะสมพัฒนาเป็นท่าเรือบก 4 แห่ง คือ ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ขอนแก่น และนครสวรรค์ วงเงินลงทุนรวม 27,490 ล้านบาท

หากครม.ชุดใหม่ให้ความเห็นชอบ พร้อมดำเนินการหาเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปี 2563 จากนั้นโดยใช้เวลา 3 ปีในการออกแบบ ก่อสร้างและวางระบบ เพื่อเปิดให้บริการในปีที่ 4 หรือปี 2567 เริ่มนำร่องพื้นที่ฉะเชิงเทรา ต่อด้วยนครราชสีมากับขอนแก่น และนครสวรรค์ ในปีถัดไปตามลำดับ โดยที่จังหวัดนครราชสีมากำหนดตั้งที่ต.กุดจิก อ.สูงเนิน พื้นที่ 1,800 ไร่ วงเงิน 7,740 ล้านบาท คาดมีปริมาณสินค้า 287,400 BEUs

ล่าสุดนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า บริษัทที่ปรึกษาการจัดตั้งโครงการท่าเรือบก (Dry Port) ได้ศึกษาพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคัดเลือกพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา ว่ามีศักยภาพและความเหมาะสมในการจัดตั้ง โดยรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ public private partnership (PPP) และร่าง TOR หรือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างให้รัฐลงทุนที่ดิน เอกชนลงทุนสิ่งปลูกสร้างและเสนอผลตอบแทนที่เหมาะสม ลักษณะกายภาพของพื้นที่ ต้องมีขนาดเริ่มต้น 600 ไร่ และพร้อมขยายได้ถึง 1,200 ไร่ในอนาคต ลุ้นรัฐเคาะ  4ท่าเรือบก  ธุรกิจรอชิง

ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมามีโครงสร้างพื้นฐาน และโครงข่ายคมนาคมขนส่งครบถ้วน ทางถนนมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ เชื่อมโยงอีสานตอนบน-กลาง ทางหลวงหมายเลข 24 เชื่อมโยงอีสานตอนใต้ ทางหลวงหมายเลข 226 เชื่อมโยงอีสานตอนใต้ และทางหลวงหมายเลข 304 เชื่อมโยงจังหวัดภาคตะวันออก ในอนาคตมีทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา และการขยายทางหลวง 304 ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย ส่วนทางราง ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงอีสานตอนบน จ.หนองคาย และอีสานตอนล่าง จ.อุบลราชธานี ในอนาคตมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ขณะที่ในพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรม 7,513 แห่ง โดยมีผลผลิตมวลรวม 264,964 ล้านบาท และมีปริมาณการบรรทุกทางรางจำนวนมากและตู้คอนเทนเนอร์ปีละกว่า 2 แสนตู้

ขณะที่นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดนครราชสีมา เผยว่า กลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นและส่วนกลาง ให้ความสนใจจะมาร่วมลงทุนหลายราย ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไขการร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในส่วนภูมิภาค ท่าเรือบกมีความสำคัญต่อโคราช เนื่องจากในพื้นที่ภาคอีสานมีการส่งออกนำเข้าสินค้า ทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์-สุรินทร์) มีปริมาณเฉลี่ยการขนส่งออกสินค้าภาคเกษตรมากกว่า 40% โคราชมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเครือข่ายคมนาคม หากตั้งท่าเรือบกขึ้นได้จะช่วยดึงความเจริญเข้าพื้นที่ เกิดการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น มีเม็ดเงินหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,483 วันที่ 30 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ลุ้นรัฐเคาะ  4ท่าเรือบก  ธุรกิจรอชิง