อิตาเลียนไทยผนึกทุนญี่ปุ่น เล็งกินรวบมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ / 5 จุดพักรถ

07 พ.ย. 2559 | 13:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จับตากลุ่มอิตาเลียนไทยผนึกทุนญี่ปุ่นกวาดสัมปทานก่อสร้างและบริหารจัดการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ และ5 จุดพักรถ รวมมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้าน เล็งจับมือทุนท้องถิ่นประจวบฯ-ชุมพร-ระนองโหมโลจิสติกส์เปิดประตูสู่ทะเลภาคใต้ตอนบน

ตามที่กรมทางหลวง(ทล.)ได้จัดการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market sounding) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ มูลค่ากว่า 6.3 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มศักยภาพคมนาคมขนส่งภาคใต้ โดยมีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร นักลงทุน และสมาคมการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมงานและให้ความสนใจลงทุนอย่างมาก

ทั้งนี้นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย 8 เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่มีความสำคัญที่จะเป็นประตูสู่พื้นที่เศรษฐกิจของภาคใต้ กระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายในการผลักดันให้โครงการนี้สามารถเริ่มกระบวนการหาตัวเอกชนผู้ร่วมลงทุนภายในปี 2560 เพื่อให้ทันแผนที่จะเปิดให้บริการใน 2565 ซึ่งการสัมมนาจะนำไปสู่ความร่วมมืออันดีระหว่างภาครัฐและเอกชนในการนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับการคมนาคมขนส่งของประเทศให้เจริญก้าวหน้าด้วยโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

โดยโครงการนี้คาดว่าจะเปิดให้ภาคเอกชนยื่นข้อเสนอประมูลในรูปแบบ PPP เป็นหนึ่งในเส้นทางตามแผนระยะเร่งด่วนที่มีความพร้อมในการดำเนินงานสูง ปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) แล้วขณะนี้ทล.อยู่ระหว่างดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน

“มูลค่าการก่อสร้างกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือทล.จะเป็นผู้เวนคืนที่ดิน มูลค่ากว่า 9,488 ล้านบาท และให้เอกชนเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนก่อสร้างโยธาและงานระบบ ดำเนินงานและซ่อมบำรุงรักษาเส้นทาง รวมถึงการก่อสร้างและบริหารจัดการที่พักริมทางทั้งหมด มูลค่ากว่า 5.4 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการในปี 2565 จะมีปริมาณรถยนต์เฉลี่ยประมาณ 43,673 คัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 122,108 คัน/วันในปี 2594 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5% ต่อปี”

ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า มอเตอร์เวย์สายนครปฐม -ชะอำ เป็นส่วนหนึ่งของมอเตอร์เวย์หมายเลข 8 (นครชัยศรี - นราธิวาส (สุไหงโก-ลก)) มีจุดเริ่มต้นเชื่อมกับโครงข่ายมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ อ. นครชัยศรี จ.นครปฐม ผ่านไปยัง จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม และสิ้นสุดที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ระยะทางรวมทั้งสิ้น 109 กิโลเมตร ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 เลน มีการควบคุมทางเข้า-ออกอย่างสมบูรณ์และมีทางบริการคู่ขนานในพื้นที่จำเป็น ย่านชุมชน เพื่อลดผลกระทบของชุมชน มีด่านเก็บค่าผ่านทางด้วยระบบปิดทั้งหมด 9 ด่าน และมีการติดตั้งระบบชั่งน้ำหนักบริเวณด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง ตลอดแนวเส้นทางกำหนดให้มีที่พักริมทางทั้งหมด 5 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 1 แห่ง สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง และสถานที่พักริมทางหลวง (Rest Area) 2 แห่ง

“เมื่อโครงการสายนครปฐม-ชะอำ เปิดให้บริการจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณถนนเพชรเกษม ซึ่งปัจจุบันเป็นเส้นทางหลักสายเดียวที่เชื่อมการเดินทางสู่ภาคใต้ และยังมีส่วนช่วยเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญทั้งภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านทั้งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์และมาเลเซีย เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจชาติให้ยั่งยืนได้”

ทั้งนี้แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการรายหนึ่งกล่าวว่า ในการเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่านายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ด้วย นอกจากนั้นยังให้ความสนใจโครงการและพร้อมร่วมกับนักลงทุนจากญี่ปุ่นรับสัมปทานก่อสร้าง บริหารจัดการ และพัฒนาจุดพักรถในเส้นทางนี้ อีกทั้งยังมีด่านเก็บเงินอีก 9 จุด ที่น่าจะเป็นทำเลทองด้านการลงทุนเนื่องจากสะดวกด้านการเดินทางอีกด้วย

“น่าจับตาว่าอิตาเลียนไทยคาดว่าจะได้ประโยชน์จากเส้นทางที่เชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาที่กลุ่มอิตาเลียนไทยได้งานจากรัฐบาลเมียนมาอีกด้วย ทั้งยังเปิดแนวเส้นทางจากเฉพาะบางใหญ่-กาญจนบุรีไปยังท่าเรือแหลมฉบังให้ออกสู่เส้นทางภาคใต้ คาดว่ากลุ่มอิตาเลียนไทยจะมีการร่วมลงทุนกับกลุ่มทุนในท้องถิ่นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนองพัฒนาทั้งท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมให้ออกสู่ทะเลอ่าวไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย ประการสำคัญจะช่วยเพิ่มปริมาณรถใช้เส้นทางจากการเปิดให้บริการท่าเรือน้ำลึกทวายต่อการให้บริการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำได้อย่างมาก พลิกจากจุดที่ตามผลการศึกษาว่าไม่คุ้มทุนมาเป็นคุ้มทุนได้ หากสามารถเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกทวายและเปิดให้บริการ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,207 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน 2559