ระเบียงเศรษฐกิจ‘อันดามัน’ หลังโควิด 

09 ก.พ. 2564 | 20:00 น.

ฐาปนา บุณยประวิตร

นายกสมาคมการผังเมืองไทย

และเลขานุการกฎบัตรไทย

[email protected]

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดอันดามันเกือบล่มสลาย เฉพาะจังหวัดภูเก็ต มูลค่าเศรษฐกิจเกือบร้อยละ 90 ที่ได้จากภาคการท่องเที่ยวและการบริการหดหายไป ส่วนจังหวัดกระบี่ พังงาและระนอง แม้มีภาคการเกษตรคอยหนุ่นเสริม แต่ภาคการท่องเที่ยวก็ยังเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อน ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดอันดามันหลังโควิด-19 จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือครั้งใหญ่เพื่อทบทวนรูปแบบการพัฒนา ประสานจุดแข็งด้านตำแหน่งที่ตั้งและทรัพยากรธรรมชาติ สร้างยุทธศาสตร์เศรษฐกิจวิถีใหม่ ในรูปของ “ระเบียงเศรษฐกิจอันดามัน” ทุกภาคส่วนต้องพิจารณาโครงสร้างการผลิตที่เหลือใช้ ศึกษาแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคัดเลือกสาขาเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและมีศักยภาพในการกระจายโอกาสไปยังทุกภาคส่วน พร้อมดำเนินการทันทีโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกจังหวัดของอันดามัน

วิกฤติโควิดในครั้งนี้ หน่วยวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รายงานเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมหลังโควิด-19 ว่า 11 เดือนแรกของปี 2563 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหดตัวลงร้อยละ 81.4 ไทยสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.5 ล้านล้านบาท จากที่เคยได้รับ 1.9 ล้านล้านบาทในปี 2562 เฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 29.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ร้อยละ 69.7 ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักทั่วประเทศหดตัวลงร้อยละ 73.6 ที่กล่าวมานั้นเป็นภาพรวมของทั้งประเทศ ซึ่งหากประมาณการเฉพาะกลุ่มจังหวัดอันดามัน คาดกันว่า ทั้งจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวน่าจะหดตัวลงไม่ต่ำร้อยละ 50 เทียบจากของประเทศ

ระเบียงเศรษฐกิจ‘อันดามัน’ หลังโควิด 

ภายใต้ความยากลำบากของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และกฎบัตรไทย มีความเห็นสอดคล้องกันว่า เป็นเวลาที่เหมาะสมในการทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาอันดามันครั้งใหญ่ เป็นการทบทวนเพื่อวางแผนเผชิญเหตุและสร้างความยืดหยุ่นในการรองรับความเปลี่ยนแปลง ทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเดี่ยวทั้งด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานนั้น จริงๆ แล้วนับเป็นอนาคตที่ยั่งยืนของอันดามันหรือไม่ อันดามันมีความแข็งแกร่งด้านใดบ้างที่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หรือมีวิธีอย่างไรในการเผชิญปัญหาอย่างฉับพลันดังกรณีที่กำลังเกิดในขณะนี้

ประเด็นแรก โครงสร้างภาคการผลิต เฉพาะจังหวัดภูเก็ต มีห้องพักประมาณ 98,000 ห้อง ก่อนโควิดอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 55 หลังโควิดค่าเฉลี่ยลดเหลือไม่ถึงร้อยละ 15 บางบริเวณแทบเหลือเป็นศูนย์ จากสภาวะการณ์ที่เป็นอยู่ จำเป็นต้องทบทวนขนาดกำลังการผลิตที่เหลือของโรงแรม พร้อมสร้างแบบจำลองการแก้ไข แน่นอนที่สุด การคาดการณ์ของหน่วยวิจัยแทบทุกสำนักเห็นตรงกันว่า หลังโควิด-19 จำนวนการไหลทะลักของนักท่องเที่ยวระยะไกลซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโรงแรมกลุ่มจังหวัดอันดามันคงยากที่จะเห็นในโอกาสต่อจากนี้ 

ประเด็นที่สอง โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วและที่อยู่ในแผนการลงทุนใหม่ของภาครัฐและภาคเอกชน มีทิศทางให้บริการเพื่อกลุ่มเศรษฐกิจสาขาใด โครงสร้างพื้นฐานประเภทใดที่มีความยืดหยุ่นสามารถตอบสนองต่อความต้องการได้หลากหลายสาขาหรือตอบสนองได้กับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ประเด็นที่สาม สาขาเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ประกอบด้วยสาขาอะไรบ้างที่เหมาะสมกับบริบทของอันดามัน และปัจจุบันได้รับการส่งเสริมหรือได้รับการวางแผนขยายฐานให้เติบโต ตอบสนองต่อการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประชาชนในหลายระดับได้

ประเด็นสุดท้าย ภาคส่วนสำคัญๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดอันดามัน ได้มีโอกาสในการวางแผนหรือร่วมกันกำหนดอนาคตของพื้นที่มากน้อยเพียงใด มีการคาดการณ์อนาคตในรูปแบบ Strategic Foresight หรือการจำลองอนาคตร่วมบ้างหรือไม่ 

เริ่มจากประเด็นสุดท้าย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และกฎบัตรไทย ได้ศึกษาภาพรวมการพัฒนาในอนาคตพบว่า รูปแบบโครงสร้างพื้นฐาน สาขาเศรษฐกิจ และโครงสร้างภาคการผลิต ไม่ได้พัฒนาไปในทิศทางที่จะสามารถนำอันดามันไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน ภาคการโรงแรมยังหวังพึ่งพาผู้เยี่ยมเยือนที่นับวันจะมีจำนวนที่ลดลง โครงสร้างพื้นฐานอยู่ในฐานะตอบสนองแค่ความต้องการขั้นพื้นฐาน ไม่ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตและสร้างเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดเมือง 

ดังบางตัวอย่างเช่น ความพยายามลงทุนโครงข่ายถนนเชื่อมต่อระหว่างศูนย์เศรษฐกิจและการส่งเสริมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งนับว่าสวนทางกับรูปแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งในอนาคตที่พยายามลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและการส่งเสริมการลงทุนระบบขนส่งมวลชน สำหรับการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือและท่าอากาศยานของจังหวัดต่างๆ ยังขาดการวางแผนการเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบการขนส่งทางรางที่มีมาตรฐาน หรือแม้แต่ความพยายามของบางหน่วยงานในการลงทุนหน่วยบริการการแพทย์ขนาดใหญ่ในพื้นที่ภายนอกตัวเมือง ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดการสร้างความจำเป็นในการเดินทางและเป็นปัจจัยการเพิ่ม
การกระจัดกระจายของเมือง 

กล่าวโดยสรุป มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และกฎบัตรไทย ได้เสนอให้กลุ่มจังหวัดอันดามันร่วมกันทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยให้พิจารณารูปแบบการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตในรูปของ “ระเบียงเศรษฐกิจอันดามัน” เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของกลุ่มธุรกิจโรงแรม ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตจากโรงแรมมาเป็นโรงแรมส่งเสริมสุขภาพหรือ Wellness Hotel ดังที่มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่ก็ได้ พร้อมศึกษารูปแบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนในอนาคตให้สอดคล้องกับสาขาเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ซึ่งมีศักยภาพในการกระจายโอกาสไปยังประชาชนทุกระดับ ที่สำคัญคือ การสร้างความร่วมมือกันให้ได้ระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชนในการกำหนดอนาคตของพื้นที่ 

ที่มา : หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,651 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564