แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยเดือนธ.ค.2565ฟื้นตัวต่อเนื่อง

31 ม.ค. 2566 | 10:53 น.

แบงก์ชาติเผยภาคท่องเที่ยวเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ธ.ค.ฟื้นตัวต่อเนื่อง- เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มตามหมวดอาหารและพลังงาน -ระยะต่อไปจับตา 3ปัจจัยกดดันภาคส่งออกไทย-เงินบาทแนวโน้มยังแข็งค่า

นางสาวชญาวดี   ชัยอนันต์   ผู้อำนวยการอาวุโส   ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หรือแบงก์ชาติ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม2565 โดยระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค.2565  เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนแม้ได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงโดยมีแรงส่งจากภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งสนับสนุนให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น  

 

ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากได้รับ แรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงสำหรับการใช้จ่ายภาครัฐและรัฐบาลกลางทรงตัว

 

โดยรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง หลักๆมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ ส่งผลบวกต่อเครื่องชี้การบริโภค ภาคเอกชน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565

ด้วยแรงขับเคลื่อนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเพิ่มขึ้นโดยเดือนธ.ค. 2.24ล้านคน เฉพาะไตรมาส4 มีจำนวน 5.46ล้นคนและทั้งปีรวม 11.153ล้านคนเพิ่มขึ้นจาก 4.27แสนคนในปี2564 ซึ่ง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติโดยเฉพาะมาเลเซียและรัสเซียส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น2.5%จากเดือนก่อน ทำให้ การบริโภคเอกชนได้อานิสงส์ขยายตัว 1.4%

แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยเดือนธ.ค.2565ฟื้นตัวต่อเนื่อง

 ขณะที่ภาคการส่งออกแม้จะเริ่มช้อนกลับมาขยายตัวเล็กน้อย0.6%จากเดือนก่อนแต่ยังหดตัว 12.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าจึงส่งผลให้ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับลดลง 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ

ภาคการผลิตเมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลง 0.7% จากเดือนก่อนในหลายหมวดทั้ง การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและการผลิตเคมีภัณฑ์ลดลงตามการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ  

 

นอกจากนี้การผลิตยานยนต์ปรับลดลงหลังจากได้ผลิตและส่งมอบไปในเดือนก่อน ขณะที่การผลิตปิโตรเลียมปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงกลั่นทยอยกลับมาผลิตหลังปิดซ่อมบำรุงในช่วงก่อนหน้าและการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่ปรับเพิ่มขึ้นตามรอบการส่งออกสินค้าแต่ยังอยู่ในระดับต่ำตามอุปสงค์ที่ลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว 

 

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แก่หมวดสินค้าเกษตร, ยานยนต์และชิ้นส่วนและหมวดอิเล็กทรอนิกส์   แต่เคมีภัณฑ์และสินค้าเกษตรแปรรูป มูลค่า ส่งออกลดลงจากเดือนก่อน

 

ขณะที่ธุรกิจการค้าและการขนส่งสินค้ายังหดตัวสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับลดลง  โดยเฉพาะ ไตรมาส 4 การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง 5.8%  สอดคล้องเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว 1.2%จากเดือนก่อน  ทั้งหมดเครื่องจักรและอุปกรณ์และหมวดก่อสร้าง โดย การลงทุนภาคเอกชน ลดลงในทุกหมวดตามความเชื่อมั่นของธุรกิจด้านการผลิตที่ทรงตัวในระดับต่ำ

 

อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อค่าครองชีพที่อยู่ในระดับที่สูงและปัจจัยที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเช่นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่างๆเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อ

 

 ตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจสะท้อนจากสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมรายใหม่ที่ลดลงจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด -19 และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระนอกภาคเกษตรที่เป็นบวกต่อเนื่อง

 

 

ส่วนรายจ่าย ของรัฐบาล(ไม่รวมเงินโอน)ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน   โดยรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางขยายตัว 1.5% ตามรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรโดยเฉพาะการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญและค่ารักษาพยาบาลข้าราชการขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัว 2.9% จากผลของฐานสูงในปีก่อน  ขณะ รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 22.9% ตามการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านพลังงานและสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ

 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล 1.1พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ตามดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าที่ลดลง ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุลเล็กน้อยจากรายรับภาคท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นสำหรับดุลการชำระเงินเกินดุลย์ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทในเดือนธันวาคมโดยเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น และ เดือนมกราคม 2566 ข้อมูลถึงวันที่ 24 มกราคมค่าเงินบาทเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นจากการที่ตลาด อยู่ในภาวะปิดความเสี่ยงเนื่องจากนักลงทุนคาดการว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลง

 

รวมถึงการเปิดประเทศจีนที่เร็วกว่าคาดส่งผลให้ตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยประกอบกับปัจจัยเชิงฤดูกาลที่นักลงทุนปรับ พอร์ตในสินทรัพย์การลงทุนในช่วงสิ้นปีด้วย 

 

ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 5.89%จาก 5.55%ในเดือนก่อน   จากอัตราเงินเฟ้อทั้งในหมวดอาหารสดและหมวดพลังงาน   เนื่องจาก สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวอยู่ที่ 3.23%ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 3.22%เป็นผลจากราคาอาหารสำเร็จรูปที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงตามต้นทุนวัตถุดิบ

แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยเดือนธ.ค.2565ฟื้นตัวต่อเนื่อง

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค.2566พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง  เห็นได้จากดัชนีชี้วัดการเดินทางของประชาชนช่องทางต่างๆแนวโน้มดีต่อเนื่อง และ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายหมวดฟื้นตัวจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่ผลสำรวจผู้ประกอบการเดือนม.ค.พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

 

" แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนมกราคม 2566 และระยะต่อไปมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องโดยต้องติดตามใน 3 ปัจจัยหลักได้แก่ 1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2.ผลจากการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของจีนและ3. การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า"

แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยเดือนธ.ค.2565ฟื้นตัวต่อเนื่อง