“Promptbiz”หนุนภาคธุรกิจไทยเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ดิจิทัล

29 ส.ค. 2565 | 23:12 น.

“ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์: NITMX”เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชำระเงินต่อยอด “PromptPay”สู่ “Promptbiz”เสริมขีดความสามารถแข่งขันภาคธุรกิจไทยเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ดิจิทัล-เล็งยกระดับแอปเป๋าตัง

“พร้อมเพย์”ยอดใช้พุ่ง 36 ล้านรายการ/วัน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษงาน National ITMX Day 2022 : National ITMX Digital Verse Financial Connectivityหัวข้อ “โอกาสและความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุค Digital Transformation ของประเทศไทย”

 

โดยระบุว่า บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์(NITMX)ได้ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของภาคธนาคาร ที่ผ่านมาบริษัทได้ให้บริการระบบการชำระเงินที่มความสำคัญต่อทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ

 

ปัจจุบันได้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่ภาคประชาชนใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค คือ  ระบบพร้อมเพย์ที่มีปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยถึงวันละ 36 ล้านรายการ มูลค่าเฉลี่ยกว่า 1 แสนล้านบาทได้เชื่อมโยงกับ 6 ประเทศแล้วในภูมิภาคและจะเชื่อมโยงเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

การเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุค digital transformation ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องสอดรับกับพัฒนาการที่หลากหลายของภาคการเงิน ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งประชาชน SMEs หรือธุรกิจขนาดใหญ่

 

ธปท. ได้ตระหนักและวางแนวนโยบายให้รองรับ ภายใต้นโยบาย “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” หรือ  New Financial Landscape และวางแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินปี 2565 – 2567

 

รองรับหลักการสำคัญ 3มิติ คือ การเปิดกว้างให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน (Openness), การใช้บริการชำ ระเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างเข้าถึงและเข้าใจ (Inclusivity) และการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น และเท่าทัน (Resiliency) ซึ่งแผนกลยุทธ์ด้านการชำระเงินจะมีการเผยแพร่ในเร็ว ๆ นี้

“Prompt Pay - Thai QR Code หนุนmobile banking รั้งอันดับ 1 ของโลก

 

 แนวนโยบาย ธปท. ด้านการชำระเงินดิจิทัลเพื่อนำพาระบบการเงินไทย ให้สามารถก้าวสู่ยุค digital ได้อย่างยั่งยืน ผ่านการผลักดันอย่างต่อเนื่องภายใต้ 3 หลักการสำคัญ คือ Open Infrastructure, Innovation และ Inclusivity

หลักการที่ 1 Open Infrastructure: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่รองรับความหลากหลายและนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจการเงินสามารถดำเนินไปได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในบริบทของ digital economy

 

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินมาอย่างต่อเนื่อง ให้รองรับปริมาณธุรกรรม digital payment ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จนทำให้ประเทศไทยจัดว่าเป็นผู้นำด้านการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศในภูมิภาคที่ชัดเจน คือ ระบบ Prompt Pay และมาตรฐาน Thai QR Code ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ให้คนไทยหันมาโอนเงินและชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล

 

โดยเฉพาะผ่าน mobile banking จนขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก และยังรองรับการชำระเงินและการส่งผ่านความช่วยเหลือแก่ประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ให้เข้าถึงประชาชนได้เป็นวงกว้าง พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาคุ้นชินกับการชำระเงินดิจิทัลมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้เชื่อมโยงระบบการช าระเงินกับ 6 ประเทศในภูมิภาค ภายใต้โครงการ ASEAN Payment Connectivity

 

ที่สำคัญ คือ การเชื่อมโยง faster payment คู่แรกของโลกระหว่าง ระบบพร้อมเพย์ของไทยและเพย์นาวของสิงคโปร์ซึ่งได้รับการยอมรับในการใช้งานและได้รับรางวัล “Initiative of the Year” ในปี 2565 จากวารสาร “Central Banking” และจะมีการขยายการเชื่อมโยงการชำระเงินต่อไป เพื่อรองรับการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย

"PromptBiz"หนุนภาคธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินอื่น

จุดเปลี่ยนที่สำคัญในระยะต่อไป คือ การปรับเปลี่ยนภาคธุรกิจไปสู่การดำเนินงานแบบดิจิทัล ผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับกระบวนการทำงานและการชำระเงินแบบดิจิทัล หรือระบบ PromptBiz

 

ทั้งนี้  ธปท. ภาคสถาบันการเงิน บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์และองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้ธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs สามารถส่งข้อมูลการค้าควบคู่กับข้อมูลการชำระเงิน ช่วยลดระยะเวลา ข้อผิดพลาด และต้นทุน รวมทั้งสามารถต่อยอดข้อมูล digital footprint ไปยังการเข้าถึงบริการทางการเงินอื่นได้

 

ขณะเดียวกันบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์เองได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform: NDTP) รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลการค้าและการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย

 

อย่างไรก็ดี กระแสโลกดิจิทัล การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนความต้องการและพฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนของผู้ใช้บริการ ทั้งประชาชนและธุรกิจทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่เอื้อ ต้องดำเนินการภายใต้หลักการ interoperability มุ่งเน้นให้โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินสามารถเชื่อมโยงกันได้ ไม่ซ้ำซ้อน และใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ และ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในภาคการเงินที่ร่วมกับ ธปท. ดำเนินการเรื่องนี้

 

โครงการสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนต่อไป คือ การนำมาตรฐานสากลและมาตรฐานกลางมาใช้เช่น ISO 20022และ API standard ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของ open infrastructureคือ การปรับปรุงระบบ PromptPayและ Bulk Payment ให้ตอบโจทย์การให้บริการแก่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ยิ่งขึ้น

ควบคู่กับ การรองรับผู้ให้บริการชำระเงินที่หลากหลาย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินในปัจจุบันร่วมกันได้ตามแนวปฏิบัติสากล ที่มีเกณฑ์การเข้าถึงที่เปิดเผย ชัดเจน สามารถใช้ตัดสินใจในเรื่องความเสี่ยง ค่าธรรมเนียม และต้นทุนได้อย่างเหมาะสม

 

แน่นอนว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่สำคัญของประเทศ ต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัย และรองรับการให้บริการได้ต่อเนื่อง ไม่ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจการเงินหยุดชะงัก โดยต้องอาศัยการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายด้านการบริหารความเสี่ยงที่ยืดหยุ่นเท่าทันความเสี่ยงใหม่ในยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็ว

 

หลักการที่ 2 Innovation : การส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่หลากหลายและข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลในโลกยุคดิจิทัล เช่น Data Analytics, Machine Learning, Artificial  Intelligent

 

รวมทั้ง Blockchain ซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกการเงิน เพื่อพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ โดย ธปท. มุ่งเน้นการลดอุปสรรคของผู้ให้บริการ การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มศักยภาพ มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และสามารถลดต้นทุนของระบบโดยรวม บนบริบทของการบริหารความเสี่ยงที่ดีโดยคำนึงถึงผู้ใช้บริการ และประเทศเป็นหลัก

 

หลักการที่ 3 Inclusivity: การส่งเสริมการเข้าสู่ยุคดิจิทัลโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดูแลกลุ่มที่ยังไม่มีความพร้อมและให้ความรู้อย่างเพียงพอเหมาะสม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

 

ถ้าในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ digital divide โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการใช้digital payment ในไทยขยายตัวถึง 5 เท่าจากจำนวนรายการ 63 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2560 เป็น 312 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2564

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ใช้digital payment ยังคิดเป็นเพียง 13% เมื่อเทียบกับการใช้เงินสด และยังคงกระจุกตัวกับประชาชนบางกลุ่ม ตัวเลขดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสที่จะขยายการใช้ digital payment ให้เพิ่มขึ้นได้อีกมาก

 

จากการสำรวจการใช้บริการชำระเงินในชีวิตประจำวันของประชาชน หรือ Payment Diary ยังพบว่าประชาชนปรับพฤติกรรมคุ้นชินกับการใช้ digital payment มากขึ้น และเราได้เห็นความคุ้นชินของประชาชนจำนวนมากผ่านการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง จึงควรใช้โอกาสนี้ต่อยอดให้มีการใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวอย่างหลากหลาย

 

ภายใต้แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ปี 2565 – 2567 จึงเน้นการส่งเสริมบริการชำระเงินดิจิทัลให้มีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยพัฒนาบริการร่วมกับภาคสถาบันการเงิน ภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อผลักดันให้ digital payment เป็นทางเลือกการชำระเงินหลัก ขณะเดียวกันก็มีแนวทางช่วยเหลือกลุ่มที่ยังไม่พร้อม และยกระดับความรู้ความเข้าใจทักษะการเงินดิจิทัล การใช้งานอย่างปลอดภัย รู้เท่าทันภัยทุจริตต่าง ๆ ด้วย

เตือนภัยทางการเงิน-ความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม

ทิศทางการพัฒนาระบบชำระเงินภายใต้หลักการสำคัญทั้ง 3 เรื่อง คือ Open Infrastructure, Innovation และ Inclusivity ที่ได้กล่าวไปนั้น จะเป็นกลไกสำคัญสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค  digital transformation ได้อย่างราบรื่น

 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายที่เราต้องก้าวข้ามอีกมากในการดูแลการเงินในยุคดิจิทัลให้มีเสถียรภาพ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ความไม่แน่นอนของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ภัยทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น cybersecurity หรือการหลอกลวงทุจริต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการทำงานให้เกิดความสำเร็จจะต้องอาศัยการวางโครงสร้างธรรมาภิบาลที่ดี เอื้อต่อการบริหารจัดการทั้งด้านธุรกิจ เทคโนโลยี และความเสี่ยง รองรับการเติบโตของการชำระเงิน ดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นมากทั้งจากธุรกรรมภายในประเทศและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ

 

พร้อมทั้ง มีกลไกการติดตามดูแลเสถียรภาพและขีดความสามารถของระบบสำคัญ (capacity) ให้สามารถสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก สอดรับกับความคาดหวังของสังคมที่มีต่อระบบ