ไทยยูเนี่ยน เดินหน้านวัตกรรมการเงิน ก้าวสู่ In-House Banking

21 ก.ค. 2565 | 02:00 น.

“ไทยยูเนี่ยน” ปรับลุคใหม่ ก้าวสู่ In-House Banking นวัตกรรมการเงิน ต่อเนื่อง จัดทัพกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่กระแสเงินสด บริหารจัดการความเสี่ยง มีประสิทธิภาพสูงสุดธุรกิจ จากธุรกิจกระจายอยู่ทั่วโลก จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ได้นำนวัตกรรมมาพัฒนา

นายยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงินบมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เผยว่า ในฐานะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วโลก ไทยยูเนี่ยนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารและการบริการทางการเงินแบบรวมศูนย์ จึงได้จัดตั้ง Global Treasury Center ในปี 2558  โดยทำงานร่วมกับศูนย์บริหารเงินในลักเซมเบิร์กที่บริหารงานที่เกี่ยวข้องในทวีปยุโรปและอีกศูนย์หนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองลอสแองเจลีสสำหรับการบริหารงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐอเมริกา
 

“Global Treasury Center  จัดตั้งในปี 2558 โดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) จากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย,ใบอนุญาตจากกรมสรรพากรในการเป็นสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศ (International Headquarter: IHQ) ซึ่งต่อมากรมสรรพากรได้เปลี่ยนใบอนุญาตนี้เป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) ในปี 2562
 

ในปี 2558 นั้นบริษัทยังได้มีโอกาสเริ่มระบบการจัดการสภาพคล่องทางการเงินระหว่างส่วนกลางกับบริษัท ในกลุ่มประเทศยุโรป (Global Cash Pooling) โดยมีการบริหารรวบรวมยอดเงินคงเหลือของแต่ละบริษัท เพื่อนำมาบริหารจัดการแบบรวมศูนย์และบริษัทได้ขยายขอบเขตของ Global Cash Pooling ให้ครอบคลุมการจัดการสภาพคล่องทางการเงินระหว่างส่วนกลางกับกลุ่มบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2560”

ไทยยูเนี่ยน เดินหน้านวัตกรรมการเงิน ก้าวสู่ In-House Banking

 

ต่อมาในปี 2559 ไทยยูเนี่ยน ได้เริ่มรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะยาวของบริษัทในเครือแถบทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก Global Treasury Center ของบริษัทเอง  สำหรับ In-House Banking ของธุรกิจไทยยูเนี่ยนในประเทศไทยนั้นเริ่มในปี 2563 ขณะที่โครงสร้างหรือโมเดลการทำงาน In-House Banking นั้นได้เริ่มในสำนักงานต่างๆ ของไทยยูเนี่ยนในทวีปยุโรปก่อนแล้ว
 

นายยงยุทธ กล่าวว่า โมเดลการทำงานของศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงินของไทยยูเนี่ยนในยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย นั้นมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ เป็นศูนย์บริหารเงินระดับภูมิภาคที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป : ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินทุน เงินสด และสภาพคล่องทางการเงิน  รวมถึงเป็นศูนย์บริหารเงินที่บริหารจัดการยอดเงินคงเหลือของแต่ละบริษัท เพื่อนำมาบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ที่ไทยยูเนี่ยนที่ประเทศไทย

ไทยยูเนี่ยน เดินหน้านวัตกรรมการเงิน ก้าวสู่ In-House Banking
 

ในส่วนของการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินนั้น ได้มีการวางนโยบายหลักจาก Global Treasury Center แต่มีการดำเนินการตามนโยบายกับธนาคารในระดับแต่ละภูมิภาค Global Treasury Center ที่ประเทศไทย : เป็นแหล่งเงินทุนหลักให้กับบริษัทในเครือทั้งหมด ด้วยการบริหารจัดการเงินสดและสภาพคล่องจากศูนย์กลาง ทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำกับธนาคารโดยตรงลดปริมาณธุรกรรมลง และสามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองได้มากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดนโยบายเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินและตรวจสอบต่างๆ อีกด้วย

สำหรับในส่วนของกระบวนการอัตโนมัติทางธุรกิจ (Automation) ไทยยูเนี่ยนเริ่มใช้ Robotic Process Automation (RPA) ในกระบวนการ In-House Banking ของบริษัทสำหรับขั้นตอนและรายงานทางการเงินประเภทต่างๆ ภายในบริษัท ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่บริษัทได้เริ่มนำมาใช้ในปี 2564 ทำให้บริษัทสามารถรวบรวมข้อมูลทางการเงินประเภทต่างๆ เช่น การเก็บเงิน การจ่ายเงิน และสถานะเงินสด ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นปัจจุบันมากขึ้น  เมื่อเทียบกับกระบวนการทำงานแบบเดิมที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 3-7 วัน
 

นอกจากนี้ RPA ยังช่วยให้ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ที่ทำเป็นประจำสะดวก รวดเร็วมากขึ้น เช่น การรับข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง การโอนเงิน การบันทึกการโอนเงินเข้าระบบ การจัดทำรายงานทางการเงิน และการส่งรายงานและข้อมูลทางการเงินไปยังฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องได้โดยอัตโนมัติและทันท่วงที

ไทยยูเนี่ยน เดินหน้านวัตกรรมการเงิน ก้าวสู่ In-House Banking

ไทยยูเนี่ยน เดินหน้านวัตกรรมการเงิน ก้าวสู่ In-House Banking

กล่าวโดยสรุปคือ นวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นโดยศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงินของไทยยูเนี่ยนส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในเรื่องต้นทุนทางการเงินและประสิทธิภาพในการทำงาน และมีข้อดีหลักๆ  3 ประการได้แก่ 1.ในแง่ของประสิทธิภาพในการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้ทีมสามารถบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งขั้นตอนต่างๆ ก็ลดลงและง่ายขึ้น
 

2.ในแง่ของหลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแล บริษัทสามารถเห็นภาพของกระแสเงินสดและบริหารจัดการกระแสเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึง การบริหารจัดการแหล่งที่มาของเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ 3.ในแง่ของการบริหารจัดการเงินที่คงค้างอยู่ในบัญชี ทั้งในรูปของเงินสด และลดการถือเงินสดในมือ ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการเงินทุนของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น
 

ถึงแม้จะธุรกิจหลักของไทยยูเนี่ยนจะเป็นผู้ผลิตอาหารทะเล แต่ด้วยธุรกิจที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก และการที่บริษัทให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เราได้นำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาพัฒนาการบริหารจัดการทางการเงินให้ดียิ่งขึ้น

ไทยยูเนี่ยน เดินหน้านวัตกรรมการเงิน ก้าวสู่ In-House Banking

ไทยยูเนี่ยน เดินหน้านวัตกรรมการเงิน ก้าวสู่ In-House Banking