@@ สปป.ลาว ปลดล็อกประเทศสู่ “แลนด์ลิงก์” บูมเศรษฐกิจโต4%

16 ก.ย. 2564 | 04:00 น.

การพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจของสปป.ลาวเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทยเป็นที่น่าจับตามองกับแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญที่มุ่งเน้นสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปลดล็อคภูมิศาสตร์ของประเทศ

การพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจของสปป.ลาวเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทยเป็นที่น่าจับตามองกับแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญที่มุ่งเน้นสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปลดล็อคภูมิศาสตร์ของประเทศ ซึ่งเป็นแรงส่งให้ สปป.ลาว กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่มีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมต่อตลาดการค้าการลงทุนไปยังประเทศจีนที่เป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเพิ่มขึ้น 

“สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นนโยบายต่างๆจากภาครัฐและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะเส้นทางรถไฟและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการขนส่งสินค้าระหว่างสปป.ลาว-จีน-ไทย สอดรับกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสปป.ลาวและประเทศในแถบอาเซียน” นายสุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมการเงินต่างประเทศและคุ้มครองหนี้สิน สปป.ลาว กล่าว

@@ สปป.ลาว ปลดล็อกประเทศสู่ “แลนด์ลิงก์” บูมเศรษฐกิจโต4%

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่างๆ หลายโครงการ ทำให้ สปป.ลาว สามารถก้าวข้ามอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าบนภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่เชิงเขา ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ จากการขนส่งสินค้าให้มีความสะดวก รวดเร็ว ด้วยแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ลงทุนทั้งโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง โครงการทางด่วน ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้ต่ำลงเพื่อผลักดันประเทศสู่การเป็น Land Link เชื่อมต่อการค้าให้แก่ประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะ ประเทศไทย เวียดนามและมาเลเซียไปสู่ตลาดประเทศจีนภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและสปป.ลาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนจากภาครัฐบาลและเอกชนจากประเทศจีน ทำให้ สปป.ลาว ลดภาระทางการคลังที่เป็นความเสี่ยงต่อการฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

อธิบดีกรมการเงินต่างประเทศและคุ้มครองหนี้สิน สปป.ลาว กล่าวว่า ประเทศจีนถือเป็นผู้ลงทุนหลักด้านการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศผ่านระบบราง เช่น โครงการรถไฟความเร็วปานกลาง ระยะทางประมาณ 471 กม. เชื่อมต่อเมืองเวียงจันทน์ (เมืองหลวงของลาว) กับบ่อเต็น (เมืองที่มีพรมแดนติดกับประเทศจีน) ซึ่งเตรียมเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 (วันชาติลาว) โดยตัวแทนของรัฐบาลจีน จากบริษัทเอกชนจีน  (Boten-Vientiane Railway Co., Ltd. 40%, Beijing Yukun Investment Corporation 20%, Yunnan Investment Holding Group Co., Ltd. 10%) ถือหุ้นรวม 70% ของโครงการ ขณะที่ตัวแทนรัฐบาลลาว (รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว) ถือหุ้น 30% ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก สามารถเพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้าการเกษตร ทั้ง ข้าวโพด กล้วย มันสำปะหลัง ถั่วต่างๆ เนื้อวัว คาดการณ์ปริมาณการส่งออกรวม 46 ล้านตันในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2564 ถึง พ.ศ. 2569) คิดเป็นมูลค่ารวม 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศลงถึง 50% อีกทั้งจะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยที่จังหวัดหนองคาย และวิ่งผ่านไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ ส่งผลให้ประเทศในอาเซียนได้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีนและกลุ่มประเทศยุโรปในอนาคตได้สะดวกยิ่งขึ้น 

เช่นเดียวกับ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมผ่านระบบถนน ซึ่งมีโครงการทางด่วนเวียงจันทน์–บ่อเต็น ระยะทาง 445 กม.แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่1 เวียงจันทน์-วังเวียง ระยะทาง 113 กม. ก่อสร้างแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ช่วยลดเวลาการเดินทางลง 63% จาก 4 ชั่วโมงเหลือ 1.5 ชั่วโมง ระยะที่2 วังเวียง-หลวงพระบาง (พ.ศ. 2564 ถึง พ.ศ. 2567) ระยะทาง 137 กม. ระยะที่3 หลวงพระบาง-อุดมไซ (พ.ศ. 2567 ถึง พ.ศ. 2570) ระยะทาง 114 กม. ระยะที่ 4 อุดมไซ-บ่อเต็น (พ.ศ. 2570 ถึง พ.ศ. 2573) ระยะทาง 81 กม. โดยโครงการทางด่วนสร้างขึ้นภายใต้การลงทุนแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) นำโดยบริษัทจีน Yunnan Construction and Investment Holding (YCIH) Co., Ltd. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการถือ 95% และรัฐบาลลาวถือ 5% โดยไม่ใช้เงินทุนจากรัฐบาลลาว เบื้องต้นรัฐบาลลาวให้สัมปทาน 50 ปี เพื่อเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และเมื่อครบสัญญาจะโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้รัฐบาลลาว หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยกระตุ้นด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนในทุกมิติระหว่าง สปป.ลาว และภูมิภาคอาเซียน 

@@ สปป.ลาว ปลดล็อกประเทศสู่ “แลนด์ลิงก์” บูมเศรษฐกิจโต4%

นายสุลีวัด สุวันนะจูมคำ กล่าวว่า ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2563 มีมูลค่าการลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 967.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีการลงทุนใน สปป.ลาว มากที่สุด  87.7% รองลงมาได้แก่ประเทศไทย 4.9% และ เวียดนาม 2.5% ของการลงทุนทั้งหมด เนื่องจาก สปป.ลาว ใช้ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ที่มีพรมแดนติดกับหลายประเทศ เพื่อเป็นฐานการผลิตส่งออก ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในเขตทางตอนเหนือของสปป.ลาว อาทิ หลวงน้ำทา ไซยะบุรี อุดมไซ เพื่อร่วมลงทุนในเขตอุตสาหกรรมตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลางลาว-จีน ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว ต่อไปในอนาคต เช่น บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น จากประเทศไทย ได้จัดตั้งบริษัทเพื่อการลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะและนิคมอุตสาหกรรมใน สปป.ลาว ภายใต้ชื่อ บริษัท อมตะ ซิตี้ ลาว เป็นต้น

“เรามีนโยบายมุ่งพัฒนาสร้างความแข็งแกร่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การส่งเสริมการส่งออก รวมทั้งการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้มีศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่ดี และพร้อมเปิดกว้างให้เอกชนหลายบริษัทเข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”

@@ สปป.ลาว ปลดล็อกประเทศสู่ “แลนด์ลิงก์” บูมเศรษฐกิจโต4%

นอกจากนี้ รัฐบาลสปป.ลาว ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมภาคธุรกิจที่หลากหลาย ภายในประเทศ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องการดึงนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าหลังจากที่โครงการรถไฟความเร็วปานกลางสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50% เทียบจากปี 2562 (ช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19) ที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนราว 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2  ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากประเทศไทยในปี 2562 มีมากเป็นอันดับ 1 เป็นจำนวนราว 2 ล้านคนต่อปี หลังจากนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยในปี 2564 คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จะขยายตัว 3.8-4%

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ครั้งใหญ่นี้ ถือเป็น ก้าวสำคัญที่จะยกระดับ สปป.ลาว เป็น Land Link เชื่อมต่อโลกการค้าให้แก่ทุกประเทศในอาเซียนที่จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน