บันทึกหน้าใหม่ SABUY หลัง "วิรัช มรกตกาล" ขึ้นกุมบังเหียน

09 เม.ย. 2567 | 04:53 น.

แม่ทัพใหม่ "วิรัช มรกตกาล" แจงธุรกิจ SABUY ยังดำเนินตามแผนเดิมที่อดีต CEO “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” วางไว้ มองปีนี้พ้นจุดต่ำสุดแล้ว พร้อมส่งสัญญาณพลิกกำไรในครึ่งหลังปี 67 หลังปรับโครงสร้างธุรกิจลงตัว

บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY บริษัทเทคโนโลยีของคนไทย ที่เริ่มจากการให้บริการระบบตู้เติมเงิน ก่อนจะขยายธุรกิจหลากหลายด้านที่รวมกันเป็นระบบนิเวศ (ecosystem) ของตัวเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทย ภายใต้การนำของซีอีโอที่ชื่อ “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ในช่วงที่ผ่านมา

หลังการลาออกจากตำแหน่งของ “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 พร้อมกับการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยใหม่ 4 คณะ ทำให้เกิดคำถามว่า ระบบนิเวศของ SABUY ซึ่งประกอบด้วย 6 กลุ่มธุรกิจหลักคือ Connext, Enterprise & Life, Payments & Wallet, Financial Inclusion, InnoTainment and Venture จะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่หรือไม่ จากนี้ SABUY จะดำเนินงานไปในทิศทางใด เดินหน้าต่อไปอย่างไร ภายใต้การนำของแม่ทัพคนใหม่ “วิรัช มรกตกาล” 

“นายชูเกียรติยังไม่ได้ทิ้งไปไหน ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการ ใน SABUY  และแผนการดำเนินงานและเป้าหมายที่นายชูเกียรติ เคยวางไว้ ยังคงดำเนินไปตามนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างมีนัยสำคัญ” นายวิรัช มรกตกาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ ของ SABUY กล่าวยืนยัน

นายวิรัชกล่าวยืนยันว่า การเข้ามารับตำแหน่งครั้งนี้ เป็นการเข้ามาสานต่อความตั้งใจเดิมที่นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ผู้ก่อตั้ง SABUY ได้วางเป้าหมายไว้และยังเป็นการเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ เพื่อให้ นายชูเกียรติ มีเวลาไปทำการตลาดและขยายตลาด ขยายฐานลูกค้า ไปบุกลงพื้นที่ เจรจากับพันธมิตรและคู่ค้าได้คล่องตัวเพิ่มมากขึ้นมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้จะได้เห็นอะไรๆ ที่เป็นรูปร่างมากขึ้น มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่หากไปดูในงบจะเห็นได้ว่า ช่วงครึ่งหลังปี 2566 รายได้เฉลี่ยในแต่ละไตรมาสเริ่มมีความนิ่งมากขึ้น ตกเฉลี่ยประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อไตรมาส ซึ่งจากนี้ไปก็มองว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2567 นี้ จะยังคงรักษาภาพนี้ไว้ได้ 

"อันที่จริงผมเข้ามาร่วมงานกับ SABUY ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เข้ามาดูในส่วนของคอมเมิร์ซและการลงทุน ของ SABUY ทำให้เรารู้มือกันอยู่แล้ว ที่ตกลงปลงใจมา ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อมือคุณชูเกียรติ ชอบในความลุยงาน มีมุมมองที่กว้างไกล” นายวิรัชระบุ 

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การลงทุนของ SABUY ทั้งหมดที่ผ่านมา มันสามารถเอามาผนวกเป็น DEC Ecosystem ที่แข็งแกร่งได้ เพียงแต่ก็ต้องมีการปรับให้เข้ารูปเข้าลอย ให้มีความคล่องตัวมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในปีนี้เองก็มองว่าการเก็บเกี่ยวกำไรน่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ 

อีกทั้งช่วงที่ผ่านมา คนอาจจะยังไม่เข้าใจว่า SABUY ทำธุรกิจอะไร เพราะไม่เห็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ธุรกิจตู้กดอัตโนมัติ (Vending) ก็ไม่เห็นแบรนด์ SABUY ที่ชัดเจน มีๆ หายๆ ที่เป็นแบบนั้น ก็เพราะว่า ตู้ Vending ของ SABUY เป็นเหมือนศูนย์กลางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าหลากหลายแบรนด์ โดยเรามองไปที่พื้นที่ของตู้นั้นสามารถเอามาต่อยอดธุรกิจขายเป็นพื้นที่โฆษณาได้ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีตู้ Vending ที่กระจายตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศแล้วกว่า 13,000 ตู้ เป็นอันดับ 2 ของตลาด จากสถิติตู้ Vending ทั่วประเทศที่คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 50,000-60,000 ตู้ 

นายวิรัชกล่าวว่า ปี 2566 บริษัทได้ปรับโครงสร้างภายในองค์กรใหม่ ให้มีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้มองว่า ปี 2567 นี้ ผลการดำเนินงานจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่า จะเริ่มเห็นสัญญาของการกลับมามีกำไรที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/2567 นี้ และการเพิ่มขึ้นของกำไรจะชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 3/2567 เป็นต้นไป จากปี 2566 ที่มีผลขาดทุนสุทธิราว 190 ล้านบาท 

สำหรับ 2567 ยังคงมุ่งเน้นธุรกิจหลัก 5 ตัวคือ SABUY, SBNEXT, PTECH, SABUY SPEED (กลุ่มธุรกิจ Drop-Off) และ Asphere ซึ่งจะเน้นเรื่องการหารายได้อย่างเข้มงวด โดยกวดขันเรื่องยอดขายต่อคน ต่อทีม ขยายตลาดไปยัง segment อื่น ขยายผลิตภัณฑ์ และการขยาย cross sell ภายในกลุ่มบริษัท เพื่อครอบคลุมความต้องการ และการตอบสนองของผู้บริโภคได้รอบด้านมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้กระแสรายได้ของบริษัทฯ (Revenue Momentum) มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
 


นอกจากนั้น แผนธุรกิจปี 2567 ของ SABUY ยังจะเน้นไปที่โครงสร้างธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า DEC หรือ Digital Enterprise for Consumer นั่นก็คือ

“D คือ Digital” ประกอบไปด้วยธุรกิจ AS game, Bitkub, E money, Market Tech, Cloud, Speed, Maketing Oops! จะเป็นธุรกิจที่เป็นอนาคตที่จะพาประเทศไทยข้ามสู่ยุคดิจิทัลในแบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

“E คือ Enterprise” ประกอบไปด้วยธุรกิจ Card, Buzzebees CRM, Call Center and Broker insurance เป็นธุรกิจ B2B ที่จะช่วยยกระดับธุรกิจ รวมไปถึงช่วยในส่วนของธุรกิจขา Digital และในกลุ่ม Direct to Home หรือหมวด Consumer ด้วย

“C คือ Consumer” ประกอบไปด้วยธุรกิจ Sbnext direct to home, ผ่อนสบาย, Vending machine เป็นธุรกิจที่จะเข้าถึงชุมชนทั้ง Vending Machine ร้านผ่อนสบายให้สินเชื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องกรองน้ำ รวมไปถึง น้ำอัลคาไลน์ของ Marine plus ที่เพิ่งเปิดตัวนั่นเอง

ทั้งนี้แผนการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวมไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20% หรือแตะที่ระดับ 12,000 ล้านบาท จากปี 2566 ที่ทำได้ 9,629.82 ล้านบาท โดยแรงขับเคลื่อนธุรกิจหลักๆ ในปีนี้ มาจากกลุ่มธุรกิจ SBNEXT และ SABUY SPEED ซึ่งจากการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่ผ่านมา 

ส่วนการลงทุนใหม่ๆ ในปี 2567 นั้น อาจต้องชะลอตัวไปก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดระเบียบธุรกิจที่มีในมือให้สามารถสร้างผลผลิตในระดับที่ดีและมีการเติบโตอย่างมีศักยภาพได้  ส่วนแผนปี 2568 บริษัทอาจมีแผนกลับมามีการลงทุนอีกครั้ง ตามเป้าหมายการขยายตลาดในระดับภูมิภาค ปัจจุบันบริษัทให้ความสนใจและอยู่ระหว่างการศึกษาทั้งในประเทศเมียนมา และสปป.ลาว แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะได้เห็นความชัดเจนเมื่อไหร่ และจะเข้าไปทำในส่วนไหน เพราะแต่ละประเทศมีความต้องการแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน 

นับเป็นความท้าทายยิ่งสำหรับ “วิรัช มรกตกาล” ในการนำพา SABUY ภายใต้ Ecosystem ที่วางไว้ให้ ไปถึงเป้าหมายธุรกิจ และเติบโตอย่างยั่งยืนมั่นคงต่อไป