เปิดวิชั่น CEO KCG  “คุ้กกี้กล่องแดง” ผู้นำพา สู่องค์กร 100 ปี

15 เม.ย. 2567 | 00:16 น.

เปิดวิชั่น CEO KCG  “คุ้กกี้กล่องแดง” แบรนด์อิมพีเรียล (Imperial) ผู้นำพา สู่องค์กร 100 ปี หลังเริ่มก่อตั้งแต่ปี  2501 ครอบครัวพี่น้อง “วิภาวัฒนกุล” และ “ธีระนุสรณ์กิจ”

 

หากพูดถึง คุ้กกี้กล่องแดง แบรนด์อิมพีเรียล (Imperial) เชื่อว่ามีคนไทยจำนวนน้อยมาก ๆ ที่จะไม่รู้จักขนมชนิดนี้ เพราะทุกๆ ปี คุ้กกี้กล่องแดง จะเป็นหนึ่งในสินค้าที่ถูกจัดกระเช้าของขวัญมอบให้แก่กัน แทนคำอวยพรและส่งความสุขช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ถ้าถามถึงบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เจ้าของสินค้าชนิดนี้ คงมีคนไทยจำนวนน้อยเช่นกันที่รู้จักว่าคุ้กกี้กล่องแดง มีเจ้าของคือ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG

แต่ KCG ไม่ได้มีแค่สินค้าหลักสร้างรายได้ แค่คุ้กกี้กล่องแดงเท่านั้น ภายใต้องค์กรที่มีรายได้กว่า 7,192 ล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา ยังมีสินค้าในพอร์ตอีกมากมาย และคุ้นหูคุ้นตาผู้บริโภคคนไทยอีกหลายแบรด์ อาทิ เนยและชีส แบรนด์อลาวรี่ (Allowrie) น้ำส้มเข้มข้น แบรนด์ ซันควิก (SUNQUICK) แครกเกอร์ แบรนด์โรซี่ (Rosy) เป็นต้น

 เส้นทางธุรกิจของกลุ่มบริษัท KCG เริ่มต้นตั้งแต่ปี  2501 ครอบครัวพี่น้อง “วิภาวัฒนกุล” และ “ธีระนุสรณ์กิจ” ร่วมกันก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ดำเนินธุรกิจทางด้านการนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่าย สินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ก่อนแปรสภาพมาเป็นบริษัท  อิมพีเรียล เยนเนอรัลฟูดส์อินดัสทรี จำกัด ในช่วงปี 2528 ต่อมาแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2565 และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2566 ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน KCG องค์กรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ได้ทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานครั้งใหญ่ มีการส่งต่อการบริหารให้กับ CEO คนล่าสุด “ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล” ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ ซึ่งเขามีเป้าหมายใหญ่สำคัญ คือการพา KCG ไปให้เป็น Global Player ในภูมิภาค มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมความยั่งยืนสู่การเป็น “องค์กร 100 ปี”

 ก่อนที่ “ดำรงชัย” จะก้าวขึ้นมาเป็นแม่ทัพขับเคลื่อนธุรกิจ เขามีประสบการณ์ทำงานกับ KCG มานานกว่า 30 ปีเริ่มต้นรับผิดชอบงานด้านฝ่ายขาย ตั้งแต่อายุ 30 กว่าปี ซึ่งเขาต้องออกไปพบปะลูกค้า แนะนำผลิตภัณฑ์ ให้ความรู้ข้อมูลต่างๆ พร้อมกับรับโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาหาวิธีตอบสนอง ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจในแบรนด์และบริษัท ช่วงเวลา 5 ปีก่อนที่จะมานั่งเก้าอี้ CEO “ดำรงชัย” ยังถูกเทรนด์งานด้านอื่นอีกมากมาย โดยเฉพาะงานบริหารจัดการภายในต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการมาเป็นผู้นำทัพและสร้างความสำเร็จให้กับ KCG ตามที่วางเป้าหมายเอาไว้

“ดำรงชัย” วางทิศทางการบริหารงานภายใต้วิสัยทัศน์  “Transition Towards Sustainable Growth” หรือ สร้างองค์กรสู่การเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืน และพร้อมสู่อนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาใน 2 มิติ ได้แก่ 

 1.ยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมองค์กร (Cultural Strategy) โดยยึดหลัก “Heart-drive- Expertise Agile- Responsible-Teamwork”  ด้วยความเชื่อมั่นว่าพนักงานเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุสู่เป้าหมายสูงสุด

 2.ยุทธศาตร์ทางธุรกิจ (Business Strategy) เพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างอาณาจักรอาหารตะวันตก เนยและชีส ให้เติบโตมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจใน 7 แกนหลัก ได้แก่

1.Growth-มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งเป็นการเติบโตแบบดับเบิลดิจิตทั้งปีนี้และในอนาคต ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่ถือว่ามีผลประกอบการสูงที่สุด นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาตลอดระยะเวลา 65 ปี

 2.People-การพัฒนาบุคลากร เนื่องจากคนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร KCG จะพัฒนาให้คนมีความสามารถ และรักองค์กรอย่างยั่งยืน โดยก่อนหน้ามีการปรับโครงสร้างองค์กรและเสริมบุคลากรส่วนสำคัญ เพื่อสร้างการเติบโตและความยั่งยืน

 3.Innovation Data & Tech-การขับเคลื่ององค์กรด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ เพราะเทคโนโลยี ช่วยเสริมศักยภาพด้านการแข่งขัน ขณะที่ดาต้า มีส่วนในการตัดสินใจ และให้การทำงานได้รวดเร็วและเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด

 4.Export-การขยายตลาดส่งออก จากปัจจุบันมีสัดส่วน 4-5% ซึ่งยังมีโอกาสและศักยภาพในการทำให้มีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบัน KCG ส่งออกมากกว่า 17 ประเทศ รูปแบบการทำธุรกิจในต่างประเทศ มีทั้งการมีตัวแทนจำหน่าย ซึ่ง KCG จะเพิ่มสินค้าไปขายมากขึ้น พร้อมกับการขยายตลาดใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าไปทำตลาด

 ส่วนบางประเทศได้ทำตลาดในรูปแบบ B2B และมีโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งไปเปิดตลาดมา 2-3 ปี ได้ซัพพลายสินค้าให้แมคโดแนลด์ ส่วนประเทศญี่ปุ่น มีโมเดล โซลูชั่นอาหารให้กับเชนเปปเปอร์ ลันซ์ ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ โดยการทำตลาดกับกลุ่ม B2B บริษัทมีศักยภาพและพร้อมจะเพิ่มไปยังตลาดใหม่ ๆ อาทิ ประเทศจีน เกาหลี

5.Supply Chain & Inventory-ยกระดับศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าที่ทันสมัยและครบวงจร

 6.Production& Automationยกระดับการผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติ

 7.Sustainable Development-การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

นอกเหนือจากโจทย์สร้างการเติบโตและยั่งยืนใหักับองค์กร ที่นับว่าเป็นเป้าหมายใหญ่แล้ว ระหว่างเส้นทางไปสู่เส้นชัย ยังมีอีกหลายโจทย์ที่ “ดำรงชัย” ยังต้องทำอีกหลายเรื่องด้วย อย่างเช่น การสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มผู้บริโภคในเรื่องของแบรนด์องค์กร และแบรนด์สินค้า เพราะปัจจุบันยังไม่ได้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน คนส่วนใหญ่จะรู้จักแบรนด์สินค้ามากกว่าแบรนด์องค์กร

“คอร์ปอเรทแบรนด์ของเรายังด้อย ยังต้องบิ้วอัพขึ้นไป เรากำลังคิดว่าจะเอาทั้งสองมาเชื่อมโยงระหว่างกัน เวลาทำอะไรให้เห็นทั้งสองแบรนด์ไปด้วยกัน การสื่อสารต่างๆ จะควบคู่กันไป แต่ถ้าเป็นสินค้านำเข้า จะมีการใช้แบรนด์ Selected by KCG เพื่อให้เห็นว่าเราเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพ แต่หากพูดถึงแบรนด์สินค้าคนจะนึกถึงแฟลกชิฟแบรนด์อลาวรี่และอิมพรีเรียล แต่ไม่รู้ว่าเป็นสินค้าของเคซีจี”

บทสรุปสุดท้าย KCG ภายใต้การนำทัพของ “ดำรงชัย” จะถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้หรือไม่ หรือเข้าใกล้เป้าหมายมากน้อยเพียงใด ระยะเวลาคงเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ตลอดระยะเวลาเส้นทางธุรกิจกว่า 65 ปีที่ผ่านมา ก็พอจะประเมินได้ว่า องค์กรแห่งนี้มีศักยภาพและความพร้อมในการมุ่งไปสู่หลักชัยนั้น เพราะที่ผ่านมาได้เผชิญกับปัญหาและวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งล่าสุด แต่ KCG ได้ผ่านพ้นมาได้อย่างสวยงาม การเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าคงไม่เกินกว่าความสามารถที่จะฝ่าฟันไปได้ เพราะมีการเตรียมความพร้อมในหลายด้านไว้แล้ว

“โควิด ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การอยู่รอดในโลกแบบนี้ ถ้าทำอะไรไม่เปลี่ยนแปลง จะอยู่รอดได้ยาก สิ่งที่ทำมาในอดีตไม่ผิด แต่มีสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาหลายวิกฤติ หากเปรียบเทียบแล้ววิกฤติโควิดยังไม่ยากเท่ากับวิกฤตปี 40 เพราะเป็นช่วงนั้นเป็นวิกฤตทางการเงินที่ส่งผลกับธุรกิจทั้งหมด แต่โควิดกระทบบางธุรกิจ ซึ่งวิกฤตได้สอนให้เรารู้ว่าเราจะเดินหน้าทำธุรกิจต่อเนื่องไปได้อย่างไร” นายดำรงชัย กล่าวถึงบทสรุปที่ผ่านมาและพร้อมเดินหน้าต่อสู่ความสำเร็จ

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,982 วันที่ 11 - 13 เมษายน พ.ศ. 2567