ทูตสหภาพยุโรป 16 ประเทศ พบ “จุรินทร์”ถกเลือกตั้ง-ตั้งรัฐบาลใหม่

01 มี.ค. 2566 | 07:26 น.

ประชาธิปัตย์ปลื้ม ทูตสหภาพยุโรป 16 ประเทศเกี่ยวก้อย พบ “จุรินทร์” หลัง ปชป. ส่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ ถกเรื่องตั้งรัฐบาลใหม่ และวิชั่นการเมืองระหว่างประเทศของประชาธิปัตย์


วันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่พรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ มีมติเสนอชื่อให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้มีคณะเอกอัครราชทูต จากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)ประจําประเทศไทย จำนวน 16 ประเทศ นำโดย นาย เดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เดินทางมาพบปะเยี่ยมเยียน ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์
โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค นายนิพนธ์ บุญญามณี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะทำงานด้านการต่างประเทศของพรรค ร่วมให้การต้อนรับ 

                         ทูตสหภาพยุโรป 16 ประเทศ พบ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า ท่านทูตจาก 16 ประเทศของสหภาพยุโรป นำโดยเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ท่านเดวิด เดลี รวม 17 ภาคส่วน ให้เกียรติพรรคประชาธิปัตย์มาพบตนและคณะ ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองสำคัญพรรคหนึ่งของประเทศ และกำลังเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยเฉพาะการเตรียมการเลือกตั้ง  ไปจนถึงนโยบายและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า ทูตจาก 16 ประเทศ รวมทั้งทูตอียูให้ความสำคัญและให้เกียรติกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างยิ่ง   


สำหรับวันการเลือกตั้งนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และการยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคมโดยประมาณ ซึ่งการตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เกิน 23 มีนาคม เพราะเป็นวันสุดท้ายของวาระรัฐบาลชุดนี้  

                     ทูตสหภาพยุโรป 16 ประเทศ พบ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ส่วนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ตนคิดว่ารัฐบาลหน้าคงเป็นรัฐบาลผสม ส่วนรูปแบบไหน ใครร่วมกับใครต้องรอผลการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนว่า ขอให้ประชาชนเป็นผู้ให้คำตอบว่าผลการเลือกตั้งนั้น ประชาชนให้เสียงพรรคไหนมากน้อยอย่างไร โดยพรรคยึดหลักประชาธิปไตย ใครรวมเสียงข้างมากได้คนนั้นเป็นรัฐบาล เสียงข้างน้อยเป็นฝ่ายค้าน 

นอกจากนี้ ท่านทูตหลายประเทศได้สอบถามถึงทิศทางและนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างประเทศ ซึ่งตนก็ได้ตอบว่า ในทางการเมืองระหว่างประเทศ เราถือแนวทางของสหประชาชาติในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิก และท่าทีล่าสุดในเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน เรามีมติสอดคล้องกับสหประชาชาติ 

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ เรายึดหลักขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่ไทยเป็นสมาชิก และถือเป็นความร่วมมือภายใต้กรอบกติกาที่ใหญ่ที่สุดอันเป็นที่ยอมรับ สำหรับเรื่องสังคมนั้น ยึดหลักการพัฒนาประเทศและภูมิภาคของเราไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจะเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ประเทศและโลกต่อไป 

                       ทูตสหภาพยุโรป 16 ประเทศ พบ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ด้านความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น พรคประชาธิปัตย์มีความพร้อมทั้ง 3 ด้านคือ 1.ตัวผู้สมัครที่พรรคมีเป้าหมายจะส่งผู้สมัครครบทั้ง 500 คน คือแบบเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน 2.ความพร้อมด้านนโยบาย และ 3.คือความพร้อมด้านการจัดการการเลือกตั้ง 

ในส่วนของนโยบายจะมี 3 ประเด็นหลักคือ กรอบยุทธศาสตร์ใหญ่ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” และนโยบายย่อยที่สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ โดยที่ผ่านมาได้เปิดตัว 8 นโยบายที่เกี่ยวกับการสร้างเงินไปแล้ว และจะทยอยเปิดเพิ่มเติมอีกในอนาคต รวมถึงการมีนโยบายแต่ละภูมิภาค ที่ออกแบบมาบนความต้องการที่แตกต่างกันตามลักษณะของประชากรในแต่ละพื้นที่ 

                        ทูตสหภาพยุโรป 16 ประเทศ พบ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ประเด็นที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่องที่ ได้ตอกย้ำก็คือ การที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่มีบทบาทให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ในพรรค โดยการตัดสินใจทุกอย่างของพรรคจะยึดหลักมติพรรค รวมถึงบทบาทความเป็นประชาธิปไตยในเวทีระหว่างประเทศร่วมด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และคณะ ก็ได้เดินทางเข้าพบ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และคณะผู้บริหารพรรค เช่นกัน