“ยุบสภา”เถอะ ประหยัดภาษีเงินเดือน ส.ส. เดือนละ 47.6 ล้านบาท

09 ก.พ. 2566 | 23:09 น.

สภาล่ม ล่มแล้ว ล่มอีก สภาผู้แทนฯ ล่ม 31 ครั้ง รัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) ล่ม 11 ครั้ง รวม 42 ครั้ง ส.ส.ก็ทยอยลาออกทุกวันเพื่อเตรียมเลือกตั้งใหม่ เหลือปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 420 คน หาก “ยุบสภา” จะทำให้ประหยัดเงินเดือนส.ส.ได้เดือนละกว่า 47.6 ล้านบาท

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2566 ในเวลา 15.30 น. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขพ.ร.ก.การประมง จำนวน 7 ฉบับ ที่หลายพรรคการเมืองร่วมกันนำเสนอ

หลังจากที่มีชาวประมงจำนวนมากมายื่นหนังสือถึงหลายพรรคการเมือง ขอให้ช่วยสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขการจำกัดสิทธิการประมงในหลายเรื่อง และแก้ไขเรื่องใบอนุญาตการทำประมง ซึ่งทุกพรรคก็รับปากจะช่วยสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้

“ยุบสภา”เถอะ ประหยัดภาษีเงินเดือน ส.ส. เดือนละ 47.6 ล้านบาท

ในระหว่างการประชุม มีการอภิปรายของส.ส.ทุกพรรคทั้ง ฝ่ายรัฐบาลและ ฝ่ายค้าน ต่างพร้อมใจสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว 

แต่หลังการแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้นที่ใช้เวลานานกว่า 2.30 ชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวลงมติวาระรับหลักการ ปรากฏว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย นายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย พากันเรียกร้องให้ปิดประชุม เพื่อไปลงมติร่างกฎหมายดังกล่าวในครั้งต่อไป 

“ยุบสภา”เถอะ ประหยัดภาษีเงินเดือน ส.ส. เดือนละ 47.6 ล้านบาท

เหตุเพราะมีจำนวนสมาชิกอยู่ในห้องประชุมบางตา มีแนวโน้มไม่ครบองค์ประชุม แต่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ที่ทำหน้าที่ประธาน ยืนยันให้มีการลงมติทันที เพราะพี่น้องชาวประมงรออยู่ ถ้าไม่โหวตวันนี้ก็ไม่รู้จะนำกลับมาพิจารณาได้ทันหรือไม่ เพราะยังมีขั้นตอนพิจารณาในวุฒิสภาอีก ควรโชว์ให้เห็นว่าใครรักชาวประมงจริงหรือรักแต่ปาก 

หลังจากที่รอให้สมาชิกแสดงตนอยู่นาน ปรากฏว่า มีส.ส.แสดงตนเพียง 93 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ที่ต้องใช้เสียง 210 คน ทำให้ นายศุภชัย สั่งปิดการประชุมในเวลา 18.22 น.

อันส่งผลให้ ร่างแก้ไขพ.ร.ก.การประมง จำนวน 7 ฉบับ ต้องค้างอยู่ในสภาต่อไป

สมัยประชุมสภานี้ สภาผู้แทนฯ มีเวลาประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายอีกเพียง 1-2 วันเท่านั้นคือ 22-23 ก.พ.2566 เพราะระหว่างวันพุธ-พฤหัสบดี ที่ 15-16 ก.พ. จะเป็นการอภิปรายทั่วไปรัฐบาล โดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 

ก่อนหน้าที่สภาฯ จะล่ม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธาน ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ ได้แจ้งต่อที่ประชุมเรื่องรับทราบการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) อีก 7 คน  และประกาศรายชื่อ ส.ส. ที่อยู่ลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาแทนตำแหน่งที่ว่างลง 5 คน  

ทำให้ตัวเลขของ ส.ส.เท่าที่มีอยู่และปฏิบัติหน้าที่ได้  420 คน ซึ่งองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งคือ 210 คน 

                                   “ยุบสภา”เถอะ ประหยัดภาษีเงินเดือน ส.ส. เดือนละ 47.6 ล้านบาท

ในช่วงที่ผ่านมาเกิดเหตุ “สภาล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่า” นับสถิติได้เป็นการล่มของสภาผู้แทนราษฎร 31 ครั้ง ประชุมร่วมรัฐสภา(ส.ส.+ส.ว.) 11 ครั้ง รวม 42 ครั้ง

เกิดคำถามว่า บรรดาผู้แทนฯ ทั้งหลาย ทำงานคุ้มกับเงินเดือน และค่าตอบแทนต่าง ๆ ที่มาจาก “ภาษีอากร” ของประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ 

ทั้งนี้ปัจจุบัน บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มีอัตราเงินประจําตําแหน่ง และเงินเพิ่ม ของประธาน และ รองประธานสภาฯ ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้ 

• ประธานสภาผู้แทนราษฎร : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาท

• รองประธานสภาผู้แทนราษฎร : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 63,860 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 106,360 บาท

• ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 115,740 บาท

• ส.ส. เงินเดือนประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท

นอกจากนั้น ยังมีอัตราสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีก ดังนี้ 

การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ และเอกชน กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน แบ่งเป็น 

• ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน ไม่เกิน 31 วันต่อครั้ง ไม่เกิน 4,000 บาท 

• ค่าห้องไอซียู/ซีซียู/วัน สูงสุด 7 วัน/ครั้ง ไม่เกิน 10,000 บาท 

• ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง ค่ารถพยาบาล ไม่เกิน 100,000 บาท 

• ค่ารถพยาบาล ไม่เกิน 1,000 บาท 

• ค่าผ่าตัด/ครั้ง ไม่เกิน 120,000 บาท

• ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 1,000 บาท 

• ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง ไม่เกิน 4,000 บาท 

• การคลอดบุตรคลอดธรรมชาติ 20,000 บาท และผ่าตัดไม่เกิน 40,000 บาท 

• การรักษาทันตกรรม/ปี ไม่เกิน 5,000 บาท 

• ผู้ป่วยนอก/ปี ไม่เกิน 90,000 บาท 

• การตรวจสุขภาพประจําปี ไม่เกิน 7,000 บาท

ทั้งนี้ หากมีการ “ยุบสภา” เกิดขึ้น ก่อนที่สภาฯ จะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มี.ค.2566 ก็จะสามารถทำให้ ประหยัดงบประมาณเงินเดือน ส.ส. ได้เดือนละ กว่า 47.6 ล้าน อันประกอบด้วย

-เงินเดือนและค่าตอบแทน ของประธานสภา+รองประธาน+ผู้นำฝ่ายค้าน รวม 4 คน =  454,050 บาท  

-เงินเดือนส.ส. 416 คน คูณ 113,560  = 47,240,960 บาท รวมกันเป็นเงินทั้งสิ้น 47,695,010 บาท

ไหน ๆ ส.ส.ก็ทยอยลาออกทุกวัน ๆ ประชุมสภาก็ล่มแล้วล่มอีก ไปไม่รอด แล้วยังจะมี “สภาผู้แทนฯ” ไว้ทำไม?  

สู้ “ยุบสภา” ให้มีการเลือกตั้งใหม่ จะได้ประหยัดงบประมาณเงินเดือน ส.ส. ไม่ดีกว่าหรือ เดือน ๆ หนึ่ง ตั้งกว่า 47 ล้านบาท เชียวน้า

เห็นด้วยมั้ย? พ่อ แม่ พี่น้อง...

“ยุบสภา”เถอะ ประหยัดภาษีเงินเดือน ส.ส. เดือนละ 47.6 ล้านบาท