KEY
POINTS
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แบบใหม่ ที่เปิดให้ประชาชนจาก 20 กลุ่มอาชีพสมัครและคัดเลือกกันเอง แทนการสรรหาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้จะดูเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในหลักการ แต่ในทางปฏิบัติกลับเต็มไปด้วยเงื่อนงำทางการเมือง ถูกตีตราว่า “ฮั้วเลือกตั้ง สว.” ที่บ่งชี้ถึงการแทรกแซงจากพรรคการเมือง
“ฮั้ว สว.” คือ คำที่ใช้เรียกกระบวนการที่พรรคการเมืองใหญ่ โดยเฉพาะพรรคในรัฐบาล ใช้กลไกเครือข่าย อปท., อดีต สส., นักการเมืองท้องถิ่น และ องค์กรวิชาชีพ “ล็อบบี้” หรือ “จัดคน” เข้าไปสมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพ เพื่อครอบงำการเลือกตั้งแบบไขว้ในระดับจังหวัดและประเทศ
บางกลุ่มอาชีพมีผู้สมัครจากกลุ่มเดียวกันทั้งหมด ทั้งที่อยู่กันคนละจังหวัด แต่ล้วนเชื่อมโยงกับนักการเมืองพรรคเดียวกัน
นัยสำคัญของเกมนี้คือ การ “ยึดวุฒิสภาใหม่” ให้ยังสามารถกำกับการเมืองได้ในยามวิกฤต โดยเฉพาะหากเกิด “การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” การมี สว. ในมือย่อมเท่ากับมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง
ปฏิบัติการสอย สว.
สว.ชุดใหม่ ที่ส่วนใหญ่ถูกตีตราว่ามาจากการ “ฮั้วเลือกตั้ง” มีการเรียกขานว่าเป็น “สว.สีน้ำเงิน” กำลังเผชิญกับเกม “สอย สว.” จาก “ค่ายสีแดง” หวังลดทอนอำนาจต่อรองภายในรัฐบาล
เบื้องต้นจึงได้เห็นปฏิบัติการแจ้งข้อหา 55 สว. ที่มีระดับ “บิ๊ก” รวมอยู่ด้วย ทั้ง มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา และ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2
ขณะเดียวกัน ยังจะมี สว.ล็อต 2 ถูกออกหมายเรียกตามมาอีกราว 97 ราย ว่ากันว่า กลุ่มนี้มีพยานหลักฐานชัดเจน โดยเฉพาะเรื่อง “กระแสเงิน” ที่มีการจ่ายให้หัวละ 5,000- 20,000 บาท มีเงินหมุนเวียนร่วม 500 ล้านบาท และพบเส้นทางเงินที่โยงใยไปถึง “ผู้บงการอยู่เบื้องหลัง” ระดับ “บิ๊กเนม”
ปรับครม.-แตกหักพรรคร่วม
อีกด้านหนึ่งที่จะเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตทางการเมืองใน “รัฐบาลแพทองธาร” คือ แรงเสียดทานจากการ “ปรับ ครม.” ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายหลังการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ 2569 ในช่วงเดือน ก.ย.นี้
โดยเฉพาะ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล มีความต้องการ ปรับคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะสายเศรษฐกิจ ที่ถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลวต่อเนื่อง ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย และ พรรคพันธมิตรเดิม จาก “รัฐบาลประยุทธ์” กลับไม่ต้องการเสียเก้าอี้ใน ครม.
“เราเป็นพรรคร่วม ไม่ใช่ลูกน้อง ถ้าจะเอาเก้าอี้เราไป ต้องคุยกันก่อน ไม่ใช่แอบเสนอชื่อกันเอง” แหล่งข่าวระดับกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย ระบุ
แปลความได้ว่า “ภูมิใจไทย” ยืนยันจะไม่ยอมให้แตะ “โควต้ารัฐมนตรีเดิม” ที่ได้จากข้อตกลงตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้ตามแผน “ปรับ ครม.” ที่เล็ดลอดออกมาจากแกนนำพรรคเพื่อไทย ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะมีการปรับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคพรรคภูมิใจไทย
โดย อนุทิน จะถูกปรับออกจาก รมว.มหาดไทย ให้นั่งในตำแหน่ง รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข
ขณะที่พรรคเพื่อไทย วางตัว ประเสริฐ จันทรรวงทอง จาก รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้ไปดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย แทนที่ นายอนุทิน หรือ รมว.พาณิชย์ แทนที่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ (โควต้าพรรคเพื่อไทย)
ในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมว.พลังงาน และหัวหน้าพรรค อาจจะถูก “ปรับออก” โดยมีกระแสข่าวว่า สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตรองนายกฯ และรมว.พลังงาน จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และรมว.พลังงาน ในโควต้านายทุน
การเดินเกม “ปรับ ครม.” โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพรรคร่วมรัฐบาล อาจนำไปสู่การถูกตีความว่าเป็นการ “ขับพรรคร่วมออกทางอ้อม” เพื่อเตรียมทางไว้สำหรับการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีที่การบริหารเสียงในสภาไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
จับตา“ตุลาคม”การเมืองเดือด
ในแวดวงการเมือง มีการประเมินกันว่า "เดือนตุลาคม" จะเป็นจุดตัดสำคัญของรัฐบาลผสมชุดนี้ เพราะเป็นช่วงที่สภาผ่าน ร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2569 ไปแล้ว
หาก “เพื่อไทย” เดินหน้า “ปรับ ครม.” ยึดเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ที่ อนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นั่งอยู่ ก็อาจนำไปสู่ความไม่พอใจของ “พรรคสีน้ำเงิน” เกิดการถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลขึ้นได้
จาก “ปฏิบัติการสอย สว.สีน้ำเงิน” สู่ “เกมปรับ ครม.” ล้วนไม่ใช่เพียงแค่การจัดการภายในรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นจุดตั้งต้นของการเปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมืองครั้งใหญ่
เกมนี้ไม่ได้มีแต่ “เพื่อไทย” หรือ “ภูมิใจไทย” ที่มีเดิมพัน แต่รวมถึงพรรคเล็ก-กลางทุกพรรค ที่หวังจะต่อรองบทบาทในรัฐบาลหน้า รวมถึงพรรคประชาชน ที่กำลังวางเกมทวงคืนอำนาจบนสนามเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า
การเมืองไทยยังไม่พ้นภาวะ “เปราะบาง” แต่แรงสั่นสะเทือนจากภายในกำลังทำให้ “รัฐบาลผสม” ต้องเลือกระหว่างปรับตัว หรือ แตกหัก
เกมการเมืองรอบใหม่นี้อาจ “ระอุ” เร็วกว่าที่คิด เมื่อสมการ “ฮั้ว สว. + ปรับ ครม.” กลายเป็นตัวเร่งวิกฤต และการแตกหักในพรรคร่วมรัฐบาล
ขณะที่คำว่า “ยุบสภา” เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ ความเคลื่อนไหวจากนี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่การประคองเสียงในสภา แต่หมายถึงการเอาตัวรอดของทั้งรัฐบาลชุดนี้
รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4097 หน้า 12