เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำหนังสือยื่นต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการฮั้วเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฮั้วเลือก สว.) ซึ่งถือเป็นภัยร้ายแรงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
นายณฐพร ระบุว่า จากข้อมูลและพยานหลักฐานที่รวบรวมโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชน พบว่า มีขบวนการจัดการเลือกตั้ง สว. ล่วงหน้า โดยมีการวางแผน คัดเลือก และดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่อยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งมีพฤติการณ์เข้าข่ายการใช้สิทธิเสรีภาพในลักษณะที่บ่อนทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
ในคำร้องระบุรายละเอียดกระบวนการฮั้วไว้ 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
1. การวางแผนเบื้องต้น
มีการวางแผนล่วงหน้าโดยพรรคภูมิใจไทยและคณะบุคคล ที่เกี่ยวข้อง เลือกจังหวัดขนาดเล็กที่มีการแข่งขันต่ำเป็นพื้นที่ดำเนินการ โดยจัดหาผู้สมัครจากทุกกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่มในทุกอำเภอ มีการกำหนดรายชื่อ สว. เป้าหมายไว้ล่วงหน้า พร้อมจัดสรรงบประมาณสนับสนุนประมาณ 500 ล้านบาท โดยให้ผู้สมัครระดับอำเภอคนละ 15,000 บาท บางรายถูกหักหัวคิวหรือทำหน้าที่เพียงเป็นเครื่องมือ ไม่ได้หวังเป็น สว. จริง
2. การคัดเลือกและการเงิน
มีการจัดทำ “โพยฮั้ว” เพื่อให้กลุ่มผู้สมัครที่พร้อมแลกผลประโยชน์ เลือกบุคคลที่กำหนดไว้ โดยตั้งเป้าหมายที่ 140 คน และได้จริง 138 คน พร้อมสำรองอีก 2 ราย มีการจ่ายเงินเป็นขั้นตอน ได้แก่ 50,000 บาท สำหรับผู้ที่ผ่านรอบอำเภอ และเพิ่มอีก 100,000 บาท หากเข้าสู่รอบระดับประเทศ โดยมีการจ่ายเงินสดล่วงหน้า 20,000 บาท ส่วนที่เหลือจ่ายภายหลัง
3. การดำเนินการระดับประเทศ
นำผู้สมัครเป้าหมายเข้าพักที่โรงแรมนอกเขตกรุงเทพฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบ มีการซักซ้อมการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยฝึกให้เขียนเบอร์ของผู้สมัครเป้าหมายในแบบฟอร์ม ส.ว.3 และนำเข้าไปในคูหาเลือกตั้ง เมื่อ กกต. ห้ามนำแบบฟอร์มเข้าคูหา ก็เปลี่ยนวิธีเป็นการเขียนลงมือหรือแอบนำเข้าไปแทน
นายณฐพร ชี้ว่า การกระทำดังกล่าวของพรรคภูมิใจไทยและคณะบุคคล เป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยใช้วุฒิสภาเป็นเครื่องมือ จึงขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้ สว. เป็นตัวแทนจากหลากหลายอาชีพที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง และควรพิจารณากฎหมายจากหลากหลายมุมมอง ไม่อยู่ภายใต้อุดมการณ์ทางการเมือง
“จากข้อเท็จจริงและหลักฐานทั้งหมด ยืนยันได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ส่งผลเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงขอใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” นายณฐพรกล่าว
สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49 ระบุว่า บุคคลใดเห็นว่ามีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สามารถร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
ทั้งนี้ นายณฐพร ยืนยันว่า การยื่นเรื่องในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสของการเลือกตั้ง สว. เท่านั้น แต่เป็นการปกป้องหลักการประชาธิปไตยและสถาบันทางการเมืองของประเทศ จากการครอบงำโดยกลุ่มการเมืองเฉพาะกลุ่ม ซึ่งอาจนำไปสู่การบิดเบือนอำนาจของประชาชนอย่างร้ายแรง