นักกฎหมายวิเคราะห์ เศรษฐาเสี่ยงสูงพ้นนายกฯ จับตาการเมืองสลับขั้ว

25 พ.ค. 2567 | 01:33 น.

นักกฎหมายวิเคราะห์ มติศาลรัฐธรรมนูญ 4 ตุลาการมองเศรษฐามีปัญหา ปมตั้งพิชิต ชื่นบาน อีก 2เสียงต้องลุ้นต่อ งานนี้เสี่ยงสูงพ้นเก้าอี้นายกฯ ทำครม.พ้นทั้งหมด จับตาการเมืองสลับขั้ว

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้อง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 ไว้วินิจฉัย ขณะเดียวกันได้มีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากกรณี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คน ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170  วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) และ (5) และอาศัยมาตรา 82 วรรคสอง หลังจากนี้นายเศรษฐามีเวลา 15 วันหลังจากได้รับสำเนาคำร้อง เพื่อชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ได้วิเคราะห์กับฐานเศรษฐกิจ ถึงโอกาสรอดของนายเศรษฐา ทวีสิน โดยขั้นแรกพิจารณาจากมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่ามีตุลาการอย่างน้อย 4 ท่าน ที่คงจะมองว่านายเศรษฐา มีปัญหา ขณะที่ตุลาการอีก 2 ท่านมองว่ามีมูลแต่ไม่ได้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แปลว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อย่างน้อย 4 ท่านจะพิจารณาว่านายเศรษฐา ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และถึงแม้จะไม่ได้รับเรื่องนายพิชิตไว้ ก็ต้องมีการพิจารณาเรื่องนายพิชิตอยู่ดี เพราะเหตุของนายเศรษฐา มาจากการตั้งบุคคลซึ่งไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

นักกฎหมายวิเคราะห์ เศรษฐาเสี่ยงสูงพ้นนายกฯ จับตาการเมืองสลับขั้ว

ดร.เจษฎ์ กล่าวถึง การที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เคยสอบถามเรื่องคุณสมบัติของนายพิชิตกับทางสำนักงานกฤษฎีกาว่า เป็นการถามคนละประเด็นกำคำร้องของทาง 40 สว. เนื่องจากสำนักเลขาฯ ได้ขอความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ได้สอบถามในมาตรา 160 (4),(5) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และจริยธรรมร้ายแรง

สำหรับแนวทางการต่อสู้ หรือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายเศรษฐานั้น ดร.เจษฎ์วิเคราะห์ว่าสามารถทำได้ 2ลักษณะ คือลักษณะแรก ยืนยันว่าไม่รู้ หมายถึงได้สอบถามฝ่ายต่างๆแล้วว่าคุณสมบัติของนายพิชิตไม่มีปัญหาใดๆ ส่วนการสอบถามไปยังกฤษฎีกา ก็เป็นการดำเนินการของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อความรอบคอบ

อีกลักษณะคือ ยืนยันในความถูกต้องที่แต่งตั้งนายพิชิต โดยใช้เหตุผลว่านายพิชิตได้รับโทษในขั้นแรกเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีติดสินบนอัยการได้สั่งไม่ฟ้อง จึงมีแค่โทษที่ศาลสั่งซึ่งได้พ้น 10ปีมาแล้ว เท่ากับว่านายพิช่ตได้รับโทษในสิ่งที่ตนกระทำไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรที่จะต้องได้รับการลงโทษซ้ำสองจากความผิดครั้งเดียว 

นักกฎหมายวิเคราะห์ เศรษฐาเสี่ยงสูงพ้นนายกฯ จับตาการเมืองสลับขั้ว

ต่อข้อถามว่าการวินิจฉัยกรณีดังกล่าวจะนำไปสู่ฉากทัศน์ใดได้บ้าง ดร.เจษฎ์ฉายภาพให้เห็นว่า กรณีนี้คาดว่าจะไม่มีการส่งศาลฎีกาฯจนนำไปสู่การตัดสิทธิ์ทางการเมือง ดังนั้นผลแห่งคำวินิจฉัยเต็มที่จึงเป็นการสั่งให้นายเศรษฐาพ้นไปจากตำแหน่งด้วยเหตุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นไปด้วยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167(1)

นั่นหมายถึงสถานการณ์ทางการเมือง อาจนำไปสู่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี หรือกระทั่งการเปลี่ยนรัฐบาล มีการหารือเพื่อรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ พรรคก้าวไกลอาจเข้ามาเป็นปัจจัยในการตั้งรัฐบาล ซึ่งต้องไม่ลืมว่าขณะนี้ สว.ไม่มีอำนาจในการร่วมโหวตผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯแล้ว ดังนั้นมิติทางการเมืองยังต้องจับตาดูต่อไป